เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10859
วันที่: 28 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเอกสิทธิ์ของพนักงานอาวุโส
ข้อกฎหมาย: มาตรา พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499
ข้อหารือ: ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ได้ทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจกับ Swedish international Development Cooperation Agency (SIDA) โดย SIDA ได้มอบหมายให้ Mr. H จากประเทศสวีเดนเข้ามาปฏิบัติงาน ชั่วคราวในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์พัฒนาการประมงฯ ใน ประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 เนื่องจาก Mr. H ดำรงตำแหน่งพนักงานอาวุโส จึงได้รับเอกสิทธิ์จากรัฐบาลไทยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าจ้าง เงินเพิ่ม และเงินได้ต่างๆ ที่ได้รับจากประเทศสวีเดน ตามความในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับศูนย์พัฒนาการประมงฯ ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2513 และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2499 จึงขอทราบว่า ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย: เนื่องจากข้อ 4 ของหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับศูนย์พัฒนาการประมงฯ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2513 ระบุให้เอกสิทธิ์และการอำนวยความสะดวกแก่หัวหน้า รองหัวหน้า และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานฝ่ายฝึกอบรมของศูนย์ พัฒนาการประมงฯเท่ากับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยภายใต้แผนการโคลัมโบ และตามคำแปลหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอังกฤษ เรื่อง การยกเว้นภาษีอากรให้ผู้เชี่ยวชาญตามแผนโคลัมโบ ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2505 ระบุให้โครงการร่วมมือทางวิชาการแห่งแผนการโคลัมโบ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งให้เอกสิทธิ์ในการยกเว้นการจดทะเบียนคนต่างด้าว การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือน เงินเพิ่ม และเงินได้ต่างๆ ที่ได้รับจากประเทศตน และภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าสิ่งของส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือนภายใน 3 เดือน นับแต่เดินทางมารับหน้าที่ครั้งแรก ดังนั้น Mr.H ซึ่งดำรงตำแหน่งพนักงานอาวุโส จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ซึ่งเป็นเงินค่าจ้าง เงินเพิ่ม และเงินได้ต่างๆ ที่ได้รับจากประเทศตน ตามหนังสือแลกเปลี่ยนดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499
เลขตู้: 68/33780

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020