เลขที่หนังสือ | : กค 0706/10713 |
วันที่ | : 23 ธันวาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้อและขายคืนหน่วยลงทุน RMF |
ข้อกฎหมาย | : กฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2(65) |
ข้อหารือ | : นาย ว. ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุน (RMF) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จึงขอทราบว่า 1. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 นาย ว. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไป นาย ว. จะขายคืนหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งรวมถึงหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อเพิ่มเติมภายหลังจากวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ได้ โดยไม่ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถือได้ว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวใช่หรือไม่ 2. กรณีนาย ว. ยังคงถือหน่วยลงทุน RMF บางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้ซื้อมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2544 (วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก) จนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2549 หากนาย ว.ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ที่ได้ซื้อมาเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไปทั้งหมดหรือบางส่วนในวันใดก็ได้ โดยถือว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวใช่หรือไม่ 3. กรณีนาย ว. ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 หากภายหลังจากวันที่ 28 ธันวาคม 2544 นาย ว. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF จากกองทุนอื่น ให้ถือว่า วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ของนาย ว. สำหรับการขายคืนหน่วยลงทุน RMF จากกองทุนอื่น เป็นวันที่ 28 ธันวาคม 2544 แม้ภายหลังปรากฏว่า นาย ว. ได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ในบัญชีที่ได้ซื้อมาครั้งแรกบางส่วนแล้วก็ตาม ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไป นาย ว. ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อมาจากกองทุนอื่นทั้งหมดหรือบางส่วน ในวันใดก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อจากกองทุนอื่น โดยถือว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ในส่วนที่เกี่ยวกับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ของผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุน RMF คืน ตามข้อ 2(65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547)ฯ กำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก จึงพิจารณาได้ดังนี้ 1. กรณีตามข้อ 1. และข้อ 2. นาย ว. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ดังนั้น วันที่ครบกำหนดห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก คือ วันที่ 28 ธันวาคม 2549 การที่นาย ว. จะขายคืนหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อมาครั้งแรกรวมถึงที่ซื้อมาในภายหลัง ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไป แม้นาย ว. จะมีอายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ กรณีถือได้ว่า นาย ว. ได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ตามข้อ 2(65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547)ฯ แล้ว 2. กรณีตามข้อ 3. นาย ว. ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ต่อมานาย ว. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF จากกองทุนอื่นอีก วันที่ครบกำหนดห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก คือ วันที่ 28 ธันวาคม 2549 การที่นาย ว. จะขายคืนหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อมาจากกองทุนอื่น ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไป กรณีถือได้ว่า นาย ว. ได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ตามข้อ 2(65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547)ฯ แล้ว |
เลขตู้ | : 68/33771 |