เลขที่หนังสือ | : กค 0706/295 |
วันที่ | : 13 มกราคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากบำเหน็จดำรงชีพของสภากาชาดไทย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : กรณีเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ส. มีสวัสดิการเหมือนข้าราชการและได้รับบำเหน็จดำรงชีพ แต่กรมสรรพากรได้เรียกเก็บภาษีเงินได้โดยถือเป็นเงินได้จากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะถือว่าไม่เป็นข้าราชการ จึงขอทราบว่า ผู้มีเงินได้ดังกล่าวควรมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่นตามมาตรา 48 (5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : บำเหน็จดำรงชีพของหน่วยงาน ส. ไม่ถือเป็นบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จึงไม่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (64 ) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ( พ.ศ. 2509 ) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร และเนื่องจากบำเหน็จดำรงชีพดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณบำเหน็จ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ผู้มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวจึงมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 |
เลขตู้ | : 69/33821 |