เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10858
วันที่: 28 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเครดิตภาษี และการลงรายจ่ายภาษีที่เสียไปในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 65 ตรี (6) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
ข้อหารือ: บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการขายส่ง ขายปลีกคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้ง Hardware และ Software ให้บริการคำปรึกษา และบริการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ทั้ง Hardware และ Software โดยบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรณีลูกค้าในต่างประเทศจะมีทั้งประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศดังกล่าวมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อนแล้ว ปรากฏว่า ยังมีจำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศยังเหลืออยู่ บริษัทฯ มีสิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร
2. บริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ปรากฏว่า ยังมีจำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศยังเหลืออยู่ บริษัทฯ มีสิทธินำเครดิตภาษีดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร
3. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อน และมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 หรือเลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในประเทศไทย บริษัทฯ มีสิทธิเลือกจะนำภาษีที่เสียไปแล้วในต่างประเทศบางประเทศมาเครดิตภาษีที่ถูกจัดเก็บในประเทศไทยและหรือมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้หรือไม่ หรือจะต้องนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศทุกประเทศมารวมกันทั้งหมดมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย หรือนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับจากการให้บริการดังกล่าวโดยไม่หักภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศบวกกลับเป็นรายได้ของบริษัทฯ และได้นำภาษีดังกล่าวมาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามบทบัญญัติในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำกับประเทศต่าง ๆ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 โดยการใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าว มีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอเครดิต บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในประเทศคู่ค้ามายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 หากปรากฏว่า การใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539
3. บริษัทฯ มีสิทธิในการเลือกเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่เสียไปในต่างประเทศโดยแยกพิจารณาออกเป็นแต่ละประเทศตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งสำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้
3.1 เลือกนำมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
3.2 เลือกนำภาษีที่เสียไปในต่างประเทศมาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามบทบัญญัติในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำกับประเทศต่าง ๆ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ในกรณีที่บริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หรือ
3.3 เลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
เลขตู้: 68/33779

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020