เลขที่หนังสือ | : กค 0706/271 |
วันที่ | : 13 มกราคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบข้อ 4(2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัท ผ.จำกัด ประกอบกิจการขายแบตเตอรี่ ได้ขายสินค้าให้กับบริษัท ว.จำกัด เป็นจำนวนเงิน 17,095,950 บาท บริษัท ต. จำกัด เป็นจำนวนเงิน 1,314,840.65 บาท และนาย ส. นาง ว.เป็นจำนวนเงิน 1,247,983 บาท แต่เนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่ชำระเงินค่าสินค้า บริษัทฯ จึงได้ฟ้องคดีต่อศาล ภายในกำหนดอายุความ ศาลได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องของบริษัทฯ และศาลได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลให้ลูกหนี้ชำระเงินตามคำพิพากษาแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ นาย ส.ซึ่งเป็นผู้บริหารและเจ้าของกิจการทั้งสองบริษัทดังกล่าวได้ปิดกิจการและหลบหนีหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรี บริษัทฯ เห็นว่า ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 และคำพิพากษาฎีกาที่ 876/2535 และที่ 1020/2540 ให้จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ บริษัทฯ จึงได้จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ แต่เจ้าพนักงานสรรพากรสำนักบริหารภาษี ธุรกิจขนาดใหญ่ทักท้วงว่า บริษัทฯ ยังจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ไม่ได้เพราะขาดคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ระบุว่า จำเลยหรือลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ให้ยึดมาชำระหนี้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทฯ เป็นการถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทฯ บริษัทฯ สามารถใช้รายงานของทนายความในการติดตามหาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อยึดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหลักฐานประกอบการ จำหน่ายหนี้สูญได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ โดยบริษัทฯ ต้องแจ้งรายงานการ ติดตามหาทรัพย์สินของทนายความเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและมีหลักฐานการรับทราบของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบริษัทฯ อาจใช้สำเนารายงานการยึดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่แสดงว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะชำระหนี้ได้ โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับรองความถูกต้องของรายงานด้วย |
เลขตู้ | : 69/33820 |