เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/397
วันที่: 17 มกราคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีนายจ้างจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ศ. ประกอบกิจการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่บริษัทอื่นๆ บริษัทฯ ได้จัดทำโครงการประกันชีวิตพนักงานเสนอให้แก่บริษัทลูกค้า โดยโครงการประกันชีวิตพนักงานดังกล่าว นายจ้างจะ
ต้องเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงานจนครบกำหนดอายุกรมธรรม์ และถือเป็นสวัสดิการของพนักงาน กรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าว เป็นแบบชนิดสะสมทรัพย์ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ถือกรมธรรม์
จ่ายเบี้ยประกัน และเป็นผู้รับประโยชน์ทุกอย่างตามกรมธรรม์ มีระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันและระยะเวลาการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ 10 ปี ครบกำหนดอายุกรมธรรม์เมื่อผู้เอาประกัน
มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบเกษียณตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ในระเบียบพนักงาน เมื่อนายจ้างรับประโยชน์ตามกรมธรรม์แล้ว ก็จะยกผลประโยชน์ให้แก่พนักงานในกรณีที่
พนักงานเกษียณอายุ หรือมอบให้แก่ทายาทของพนักงานในกรณีที่พนักงานเสียชีวิต ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุไว้ในระเบียบสวัสดิการพนักงาน แต่ถ้าหากพนักงานลาออกก่อนกำหนดหรือก่อนครบ
กำหนดเกษียณอายุ นายจ้างสามารถยกเลิกกรมธรรม์ และจะได้รับเงินจากมูลค่าการคืนกรมธรรม์ พร้อมเงินปันผลหรือดอกเบี้ย โดยไม่จำต้องยกประโยชน์ดังกล่าวให้แก่พนักงานแต่อย่างใด บริษัทฯ
จึงขอทราบว่า
1. ค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่นายจ้างจ่ายแทนดังกล่าวนั้น นายจ้างมีสิทธินำไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และพนักงานต้องนำค่าเบี้ย
ประกันที่นายจ้างออกให้มารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
2. ผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับตามกรมธรรม์และได้ส่งมอบให้แก่พนักงานหรือทายาทแล้วแต่กรณี จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และพนักงานที่ได้รับผล
ประโยชน์ดังกล่าวจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายแทนพนักงานทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบสวัสดิการพนักงานของบริษัท สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี
เงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับตามกรมธรรม์ นายจ้างจะต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้ และเมื่อ
นายจ้างได้ส่งมอบผลประโยชน์ให้พนักงานตามระเบียบสวัสดิการพนักงานของบริษัท อันถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแล้ว นายจ้างมีสิทธินำผลประโยชน์ที่ส่งมอบให้พนักงานมาถือเป็นรายจ่ายได้
2. เบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายแทนพนักงาน และผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากนายจ้าง เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งพนักงานต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/33829

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020