เลขที่หนังสือ | : กค 0706/10453 |
วันที่ | : 15 ธันวาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีหนี้สูญและผลเสียหายก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี และกฎกระทรวง (ฉบับที่ 189) |
ข้อหารือ | : บริษัทได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีหนี้สูญและผลเสียหายก่อนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ 1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 อนุมัติการแปลงสภาพ ก. โดยแปลงทุนเป็นทุนเรือนหุ้นตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ 2542 และจัดตั้งเป็น บมจ. ก. และบริษัท ช. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 โดยก่อน ก. แปลงสภาพเป็น บริษัทจำกัดมหาชน ก. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร และสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และจำหน่ายหนี้ละเมิดความเสียหายจากการลักลอบใช้บริการโทรคมนาคมหรือการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้บริการโทรคมนาคม ก. ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้เป็นรายจ่ายตามหลักการบัญชีรับรองทั่วไป ต่อมาเมื่อ ก. ได้แปลงสภาพเป็น บมจ.ก. บมจ.ก. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร และทำให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของ ก. โอนไปเป็นของ บมจ.ก. นับแต่วันที่จดทะเบียนบริษัทจำกัดมหาชน ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนฯ จึงทำให้ บมจ.ก. ได้รับโอนบัญชีลูกหนี้และหนี้ละเมิดความเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคม 2. บมจ.ก. ได้รับโอนสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนจาก ก. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเดิม จำนวน 90,904 ล้านบาท แต่วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดมหาชน ได้จัดสัดส่วนของทุนจดทะเบียนจำนวน 10,000 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ประกอบด้วย 3. บมจ.ก. ได้บันทึกบัญชีหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญดังนี้ 3.1 การบันทึกหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้ก่อนแปลงสภาพและลูกหนี้คงเหลือส่วนที่ยกมา ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2546 ถึงปัจจุบัน (เป็นหนี้เก่าที่เกิดขึ้นก่อนการแปลงสภาพ) ก. มิได้นำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีและได้มีการนำบัญชีหนี้สงสัยจะสูญบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อได้แปลงสภาพเป็น บมจ.ก. แล้ว 3.2 การบันทึกบัญชีหนี้สูญอันเนื่องมาจากการตัดลูกหนี้ค่าบริการออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ ทั้งในส่วนที่เกิดก่อนการแปลงสภาพรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,047.74 ล้านบาท และลูกหนี้ก่อนการแปลงสภาพคงเหลือยกมา ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2546 ถึงปัจจุบันจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,959.92 ล้านบาท ก. มิได้นำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีและได้นำบัญชีหนี้สูญมาบวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อได้แปลงสภาพสภาพเป็น บมจ.ก. แล้ว 3.3 หลังจากการแปลงสภาพเป็น บมจ.ก. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 บมจ.ก. ได้ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและมีความประสงค์จะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนการแปลงสภาพเป็น บมจ.ก. ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 จำนวน 861.66 ล้านบาท 4. บมจ.ก. ขอทราบว่า 4.1 การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนการแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชน บมจ.ก. มีสิทธินำมาถือเป็นเป็นรายจ่ายตามกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ได้หรือไม่ อย่างไร 4.2 การจำหน่ายหนี้สูญที่เกิดจากมูลละเมิดหรือเกิดจากความเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคม บมจ.ก. มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายทั้งในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการแปลงสภาพแล้ว ได้หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณี ก. แปลงสภาพเป็น บมจ.ก. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 และได้โอนลูกหนี้การค้าค่าบริการที่เรียกเก็บไม่ได้ให้แก่ บมจ.ก. โดยในขณะที่ ก. เป็นรัฐวิสาหกิจ ได้รับรู้จำนวนหนี้การค้าดังกล่าวเป็นรายได้เพื่อคำนวณนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว และได้มีการตัดจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของ ก. ตามข้อบังคับการจำหน่ายหนี้ค่าบริการออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญมาโดยตลอดเป็นปกติ ประกอบกับเมื่อ ก. ได้แปลงสภาพเป็น บมจ.ก. บมจ.ก. ได้นำหนี้สูญดังกล่าวมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิของ บมจ.ก. แล้ว ดังนั้น บมจ.ก. จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากการให้บริการดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามมาตรา 65 ทวิ และ มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดย บมจ.ก. ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ. ศ. 2534)ฯ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 2. กรณี ก. ได้ให้บริการแก่บุคคลซึ่งได้นำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้อื่นมาขอใช้บริการจาก ก. โดยมีการปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัตรในคำขอใช้บริการอันเป็นเหตุให้ ก. ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการนั้น เนื่องจาก ก. ได้มีการให้บริการแก่บุคคลดังกล่าวจริง และภายหลังจากที่ ก. ได้แปลงสภาพเป็น บมจ.ก. แล้ว บมจ.ก. ได้นำหนี้บริการดังกล่าวมารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิของ บมจ.ก. แล้ว ดังนั้น หาก บมจ.ก. ได้ดำเนินการตามกฎหมายตามสมควรและมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า บมจ.ก. ถูกฉ้อโกงจริง กรณีถือเป็นผลเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการที่ไม่มีหลักประกัน มิใช่หนี้สูญจากการประกอบกิจการ บมจ. ก. มีสิทธินำผลเสียหายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 68/33739 |