เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10543
วันที่: 19 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับสิทธิประโยชน์ในการหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาสิบปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรา 31 และมาตรา 35(3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. การใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 35(3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บริษัทลูกค้ามีสิทธิเลือกที่จะใช้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีใดก็ได้ภายในสิบปี นับแต่ปีแรกที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมใช่หรือไม่ โดยไม่จำเป็นว่า ถ้าเลือกหรือไม่เลือกใช้สิทธิแล้วจะต้องปฏิบัติเช่นนั้นอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ บริษัทลูกค้าจะเลือกใช้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในบางปี และเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวในบางปีตามแต่ที่บริษัทลูกค้าจะพิจารณาเห็นสมควร
2. กำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งจะนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นกำไรสุทธิทางบัญชี หรือกำไรสุทธิทางภาษี
แนววินิจฉัย: 1. แม้ว่าบริษัทลูกค้าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 35(3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ก็ตาม บริษัทลูกค้ายังคงมีหน้าที่ต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ดังนั้น บริษัทลูกค้าจึงต้องนำรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวนสองเท่าของรายจ่ายดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่รายจ่ายนั้นเกิดขึ้น โดยจะเลือกใช้สิทธิในบางปีและไม่ใช้สิทธิในบางปีก็ได้ แต่หากปีใดไม่นำรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวนสองเท่าของรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายแล้ว ก็ไม่มีสิทธินำไปหักเพิ่มเติมในปีต่อไปได้อีก
2. กรณีบริษัทลูกค้าจ่ายเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทลูกค้าต้องจ่ายจากกำไรสุทธิทางภาษี
เลขตู้: 68/33749

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020