เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10177
วันที่: 6 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายค่าบริการตามสัญญาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการจัดการไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับบริษัท A สัญญาดังกล่าวมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. การจ้างบริการด้านเทคนิคโดยทางแผนกวิศวกรรมเป็นผู้ใช้บริการ มีขอบเขตงานดังนี้
(1) วิศวกรของบริษัทฯ ขาดประสบการณ์และความมั่นใจในลักษณะงาน ซึ่งบางครั้ง บริษัท A จะส่งวิศวกรของเยอรมันที่มีความเชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำปรึกษาในประเทศไทยด้วยสัดส่วนการใช้บริการประมาณ 5% ของค่าบริการที่จ่าย
(2) ให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับงานออกแบบ โดยจัดส่งคำแนะนำเป็นเอกสารมาให้บริษัทฯ ปีละประมาณ 3 – 4 ครั้ง สัดส่วนการใช้บริการประมาณ 8% ของค่าบริการที่จ่าย
(3) ให้คำแนะนำปรึกษาการจัดการโครงการต่าง ๆ เช่น จัดเก็บข้อมูล การบริหารข้อมูล เป็นต้น เพื่อควบคุมคุณภาพงานให้ทัดเทียมและเป็นมาตรฐานเดียวกับทางเยอรมัน โดยจัดส่งเป็นคู่มือการปฏิบัติงานตามลักษณะงานในด้านต่าง ๆ และหากมีการพัฒนาระบบงานใด ก็จะจัดส่งเอกสารมาให้โดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง สัดส่วนการใช้บริการประมาณ 15% ของค่าบริการ ที่จ่าย
(4) ให้คำแนะนำและจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการประมูลงานในโครงการใหญ่ ๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไป สัดส่วนการใช้บริการประมาณ 60% ของค่าบริการที่จ่าย
(5) ส่งวิศวกรไทยไปฝึกอบรมและดูงานที่บริษัท A สัดส่วนการใช้บริการประมาณ 7% ของค่าบริการที่จ่าย
2 การจ้างบริการด้านการจัดการซึ่งทางฝ่ายบริหารเป็นผู้ใช้บริการ จะเป็นด้านการจัดพิมพ์รายงานทางการเงินและรายงานต้นทุนตามโครงการเพื่อใช้ในการบริหารต้นทุน ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถจัดทำเองได้ เนื่องจากซอฟต์แวร์ทางคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไม่มีในประเทศไทย โดยบริษัทฯ จะส่งข้อมูลดิบเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานของวิศวกรในแต่ละโครงการ ข้อมูลบัญชีการเงินซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดใบสำคัญทุกชนิด ส่งให้บริษัท A ในรูปแผ่นดิสเกตต์ หรือส่งทางอีเมล์เพื่อจัดพิมพ์และส่งกลับมาให้บริษัทฯ ในรูปของรายงาน สัดส่วนการใช้บริการประมาณ 5% ของค่าบริการที่จ่าย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกับทางเยอรมัน
3. ในการให้บริการดังกล่าว บริษัท A จะส่งข้อมูลข่าวสารผ่านทางโทรศัพท์ โทรสารและทางจดหมายเป็นหลัก หากงานซับซ้อนยุ่งยากและต้องดูสถานที่จริง ก็จะจัดส่งพนักงานผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเข้ามาในประเทศไทย
4. การคิดค่าบริการตามสัญญาดังกล่าว ระบุเป็นค่าเทคนิคและการจัดการจำนวน 350,000 ดอยซ์มาร์คต่อปี แต่ในทางปฏิบัติบริษัท A จะเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวทุกเดือนตามชั่วโมงการทำงานและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเมื่อรวมทั้งปีแล้ว อาจจะมากหรือน้อยกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาก็ได้ ส่วนการออกใบแจ้งหนี้จะรวมค่าบริการทุกประเภทไว้ในรายการ ไม่ได้แยกว่าเป็นงานใด และค่าบริการแต่ละงานเท่าใด
บริษัทฯ มีความเห็นว่า ค่าตอบแทนตามสัญญาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการจัดการแก่บริษัท A เป็นค่าบริการซึ่งถือเป็นกำไรจากธุรกิจ และไม่มีการให้บริการโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท A จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย และบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามข้อ 7 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน
แนววินิจฉัย: 1. ตามข้อ 2 ของสัญญาการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการจัดการ บริษัท A ตกลงให้บริการดังนี้
(1) ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคด้านการออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม โรงงานเคมี และโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ
(2) ให้การฝึกอบรมทางด้านการจัดการด้านเทคนิค และการจัดการโครงการในต่างประเทศแก่ลูกจ้างของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ร้องขอ
(3) ช่วยเหลือคัดเลือกคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์แก่บริษัทฯ
(4) ให้บริการทางคอมพิวเตอร์ และวิเคราะห์ข้อมูลแก่บริษัท ฯ
(5) จัดหาระบบการจัดการโครงการและการสนับสนุนแก่โครงการของบริษัทฯ
(6) ให้การวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง และปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยแก่บริษัทฯ
(7) ให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งได้รับการร้องขอจากบริษัทฯ
2. ตามข้อ 5 ของสัญญาดังกล่าว บริษัท A จะต้องให้บริการให้ได้มาตรฐานทางวิศวกรรมที่ดี และต้องรับผิดชอบในผลสำเร็จของงานที่ทำ ในกรณีที่มีความบกพร่องเกิดขึ้น บริษัท A จะต้องแก้ไขความบกพร่องดังกล่าว โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมแต่อย่างใด
3. ดังนั้น การให้บริการตามสัญญาดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่บริษัท A ถ่ายทอดความรู้ที่เป็นวิทยาการให้กับบริษัทฯ หากแต่เป็นกรณีที่บริษัท A ใช้ความรู้ความชำนาญทางด้านวิศวกรรมทำงานให้กับบริษัทฯ โดยต้องรับผิดในผลสำเร็จของงานที่ทำ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ฉะนั้น ค่าตอบแทนการให้บริการตามสัญญาดังกล่าว จึงถือเป็นกำไรจากธุรกิจ และหากบริษัท A ได้ให้บริการในต่างประเทศโดยไม่ผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท A ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยสำหรับค่าตอบแทนดังกล่าว ทั้งนี้ ตามข้อ 7 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 68/33713

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020