เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/0029
วันที่: 5 มกราคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสายการบินต่างประเทศแต่งตั้งตัวแทนประกอบกิจการในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ดี. บริษัทฯ มีลูกค้าเป็นสายการบินต่างประเทศ คือ สายการบิน T (สายการบินฯ) เป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานของสายการบินเอง
สายการบินฯ เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศมาเลเซีย และมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซียโดยไม่มีสำนักงานสาขาหรือตัวแทนในประเทศไทย สายการบินฯ
ทำสัญญาจำหน่ายระวางเครื่องบินกับลูกค้าของสายการบินฯ และรับชำระราคาทั้งหมดที่ฮ่องกง โดยเป็นการจำหน่ายระวางเครื่องบินแบบเหมาลำ ในกรณีที่ลูกค้าใช้ระวางเครื่องบิน
ไม่เต็มลำ สายการบินฯ จะรับซื้อคืนส่วนที่เหลือและจัดจำหน่ายโดยสายการบินฯ เอง สายการบินฯ มีความประสงค์จะทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนเพื่อจัดจำหน่ายระวางเครื่องบินเพื่อ
บรรทุกสินค้าบางส่วนในประเทศไทยโดยไม่มีการให้บริการอื่น สายการบินฯ เข้าใจว่าสายการบินฯ ประกอบกิจการให้บริการในประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่
กำหนดในประมวลรัษฎากร ซึ่งสายการบินฯ กำลังดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยตัวแทนในประเทศไทยตามมาตรา 85/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ หารือว่า
ความเข้าใจของสายการบินฯ ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้ถูกต้องหรือไม่
1. เนื่องจากสายการบินฯ ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซียและมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย รายได้จากการจำหน่ายระวางเครื่องบินในประเทศไทยได้รับการ
ยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 8 ตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ เนื่องจากเป็นรายได้อันเกิดจากการดำเนินการเดินอากาศยานในการจราจรระหว่างประเทศ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตาม
ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ทั้งนี้ ตามหนังสือหารือการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่
กค 0811/1932 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2543 ดังนั้น จากการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว สายการบินฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกต้องหรือไม่
2. ตัวแทนของสายการบินฯ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของสายการบินฯ รวมทั้งการคำนวณภาษี การออกใบกำกับภาษี การยื่นแบบแสดงรายการและการเก็บ
รักษาเอกสารที่เกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องหรือไม่
3. การยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเกิน สายการบินฯ จะเป็นผู้ดำเนินการเอง จำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืน จะจ่ายคืนให้สายการบินฯ
แนววินิจฉัย: กรณีการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพิจารณาภาระภาษีได้ ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เนื่องจากค่าบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการดำเนินการเดินอากาศยานในการจราจรระหว่างประเทศ ดังนั้น หากสายการบินฯ มีถิ่นที่อยู่ใน
ทางภาษีอากรในประเทศมาเลเซีย ค่าบริการรับขนดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามข้อ 8 แห่งความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเพื่อการเว้น
การเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) กรณีตาม 2. ตัวแทนของสายการบินฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและรับผิดชอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนสายการบินฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ได้
ให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนสายการบินฯ อยู่ในราชอาณาจักร หากสายการบินฯ มีความประสงค์ให้ตัวแทนออกใบกำกับภาษีในนามของสายการบินฯ ให้สายการบินฯ
ยื่นขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด เมื่อได้รับอนุมัติแล้วตัวแทนออกใบกำกับภาษีแทนสายการบินฯ ได้ และตัวแทนของสายการบินฯ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ
ภาษีและชำระภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนมีหน้าที่เก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/1(1) มาตรา 83/2
มาตรา 85/2 มาตรา 86/2 มาตรา 87/2 และมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีตาม 3. สายการบินฯ ยื่นแบบแสดงรายการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้เกิน กรมสรรพากรจะจ่ายเงินภาษีคืนให้แก่สายการบินฯ ในฐานะผู้ประกอบการที่ขอคืนภาษี ตาม
มาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/33799

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020