เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./8798
วันที่: 25 ตุลาคม 2548
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีสำหรับค่าธรรมเนียมในการซื้อรถยนต์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79 และมาตรา 86/4(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ช. จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเขตจังหวัด ส. ได้สั่งซื้อรถยนต์
จากดีลเลอร์ในจังหวัดอื่น ๆ นอกเขตในจังหวัด ส. เพื่อจำหน่าย เนื่องจากบริษัทฯ
สั่งซื้อรถยนต์จากบริษัท ฟ. จำกัด แต่ไม่มีสินค้าตามที่บริษัทฯ ต้องการ บริษัทฯ จึง
สั่งซื้อรถยนต์จากดีลเลอร์ในจังหวัดอื่น โดยตกลงซื้อขายกันในราคาต้นทุนบวก
กำไรอีกคันละ 5,000 บาท สำหรับการออกใบกำกับภาษีนั้น ดีลเลอร์ผู้ขายรถยนต์
ออกใบกำกับภาษี/บิลเงินสดให้บริษัทฯ เท่ากับราคาต้นทุน และออกใบกำกับภาษี/
บิลเงินสด เป็นค่าธรรมเนียมในการตัดรถยนต์หรือค่าบริการในการตัดรถยนต์
จำนวน 5,000 บาท อีกหนึ่งฉบับ บริษัทฯ จึงหารือว่า
1. การออกใบกำกับภาษีสำหรับค่าธรรมเนียมในการตัดรถยนต์หรือ
ค่าบริการในการตัดรถยนต์ จำนวน 5,000 บาท ที่ดีลเลอร์ขายรถยนต์ให้กับบริษัทฯ
ถูกต้องหรือไม่
2. ถ้าใบกำกับภาษีสำหรับค่าธรรมเนียมในการตัดรถยนต์หรือค่าบริการใน
การตัดรถยนต์ถูกต้อง บริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ของ
ค่าธรรมเนียมหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ตกลงซื้อขายรถยนต์กันในราคาต้นทุนบวกกำไร 5,000 บาท
ต่อคันแต่เมื่อมีการซื้อขายจริงดีลเลอร์ออกใบกำกับภาษีแยกเป็น 2 ฉบับ โดยแบ่ง
ใบกำกับภาษีออกเป็นราคาทุน 1 ฉบับ และเป็นค่าธรรมเนียมในการตัดรถยนต์หรือ
ค่าบริการในการตัดรถยนต์จำนวน 5,000 บาท อีก 1 ฉบับ เงินจำนวน 5,000 บาท
ดังกล่าวมิใช่เงินค่าบริการ แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการขายรถยนต์ซึ่งเป็นการ
ขายสินค้าครั้งเดียว ดีลเลอร์จะนำเงินจำนวน 5,000 บาท ออกใบกำกับภาษีแยก
ออกต่างหากจากราคาทุนไม่ได้ ดีลเลอร์ต้องจัดทำใบกำกับภาษีเมื่อมีการซื้อขาย
รถยนต์ โดยใบกำกับภาษีนั้นต้องแสดงมูลค่าของสินค้าเท่ากับราคาทุนบวกด้วย
กำไรตามที่ตกลงซื้อขายกันตามมาตรา 86 ประกอบกับมาตรา 86/4(5) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33640

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020