เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/194
วันที่: 11 มกราคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่รับบริจาคคืนให้แก่ผู้บริจาค
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 มาตรา 77/1 มาตรา 91/2(6) มาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร
และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342)
ข้อหารือ: มหาวิทยาลัย ม. ได้รับบริจาคที่ดินจากนาง พ. และนางสาว อ.ตามโฉนดเลขที่ 104522 (เลขที่โฉนดเดิม 56018) และโฉนดเลขที่ 56017 แขวงท่าข้าม
เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา และ 13 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ตามลำดับ เพื่อประโยชน์ของคณะแพทยศาสตร โดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดิน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2547 ซึ่งในการบริจาคที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ โดยคณะแพทยศาสตร์ได้ทำบันทึกข้อตกลงการบริจาคที่ดินไว้กับผู้บริจาค
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 ว่า มหาวิทยาลัยฯ จะดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดไม่ต่ำกว่า 150 เตียงบนที่ดินดังกล่าว และสามารถเปิดให้บริการประชาชนในระยะแรกได้ภายใน
ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หากมหาวิทยาลัยฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้ในภาวะปกติและไม่มีเหตุการณ์สุดวิสัย เมื่อผู้บริจาคร้องขอ มหาวิทยาลัยฯ
ผู้รับบริจาคตกลงโอนที่ดินที่รับบริจาคคืนให้แก่ผู้บริจาค ซึ่งต่อมาคณะแพทยศาสตร์ได้มีมติยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลดังกล่าวด้วยสาเหตุและปัจจัยข้อดี ข้อเสียหลายด้านรวมทั้งปัญหา
เรื่องงบประมาณและบุคลากร ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงการบริจาคที่ดินได้ และผู้บริจาคทั้งสองได้มีหนังสือขอคืนที่ดิน มหาวิทยาลัยฯ จึงขอทราบว่า การจดทะเบียนโอน
กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงคืนให้แก่ผู้บริจาคมีภาระต้องเสียภาษีอากรหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีมหาวิทยาลัยฯ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่รับบริจาคคืนให้แก่ผู้บริจาค เนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงการบริจาคที่ดินได้ และผู้บริจาคมีหนังสือ
ขอคืนที่ดินที่บริจาค กรณีดังกล่าวมีภาระภาษีดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล มหาวิทยาลัยฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มหาวิทยาลัยฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนั้น
เมื่อมหาวิทยาลัยฯ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงคืนให้แก่ผู้บริจาค พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่รับบริจาคคืนให้แก่ผู้บริจาคของมหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ
เฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5)
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
3. อากรแสตมป์ การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือสัญญาให้ที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมถูกต้องตามกฎหมาย หนังสือสัญญา
ดังกล่าวจึงเป็นบันทึกหรือหนังสือใดๆ ที่แสดงว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้รับที่ดินจากนาง พ. และนางสาว อ. ซึ่งเป็นใบรับตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่ใบรับดังกล่าว
เข้าลักษณะเป็นใบรับสำหรับการโอนหรือก่อตั้งสิทธิใดๆ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเมื่อนิติกรรมที่เป็นเหตุให้ออกใบรับนั้นมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย จึงต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม
ลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และกรณีมหาวิทยาลัยฯ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่รับบริจาคคืนให้แก่ผู้บริจาคโดยไม่มีค่าตอบแทน ถือว่า ผู้รับโอน
กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นผู้ออกใบรับและเป็นผู้ต้องเสียอากร ตามลักษณะแห่งตราสาร 28. (ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้: 69/33809

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020