เลขที่หนังสือ | : กค 0706/86 |
วันที่ | : 9 มกราคม 2549 |
เรื่อง | : การจัดประเภทของธุรกิจหลักทรัพย์ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมจากกระทรวงการคลัง เนื่องจากตามข้อ 4(1)(ก) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 กำหนดให้ธนาคารตามกฎหมาย ว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯได้รับเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรจากผู้จ่ายที่ระบุข้างต้น บริษัทฯ จะอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมจากกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา (40)(4)(ก) แห่งประมวลรัษฏากร จากธนาคารตาม กฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจครดิตฟองซิเอร์ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักหรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ประการใด |
เลขตู้ | : 69/33800 |