เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./8779 |
วันที่ | : 21 ตุลาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินทดรองจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี (18) มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 81(1)(ณ) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการงานกฎหมายและประเมินราคา โดยมี การให้บริการแก่บริษัทเงินทุน ธ. และบริษัทในเครือของบริษัทเงินทุน ธ. บริษัทฯ มี การให้บริการ 2 ประเภท คือ 1. การให้บริการงานกฎหมายสำหรับงานร่างและตรวจสอบสัญญาและ เอกสารทางกฎหมาย รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางกฎหมายตลอดจนประเมินราคา ด้วย ซึ่งจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2. การให้บริการงานกฎหมายสำหรับงานว่าความ มีขอบเขตให้บริการเริ่ม ตั้งแต่ติดตาม ทวงถาม เร่งรัดหนี้ ฟ้องคดีและบังคับคดี ซึ่งจะได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร การให้บริการของบริษัทฯ ดังกล่าว บริษัทฯ จะกำหนดไว้ในสัญญา ให้บริการว่า ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ โดยบริษัทฯ จะทดรองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปก่อนแล้วไปเรียกเก็บคืนจาก บริษัทผู้ว่าจ้างต่อไป ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้ (1) ค่าพาหนะเหมาจ่าย ในการให้บริการงานว่าความ บริษัทจะกำหนดค่า พาหนะในรูปแบบของการเหมาจ่าย โดยเมื่อพนักงานของบริษัทได้รับมอบหมาย งานในการฟ้องร้องดำเนินคดีสำหรับคดีใดคดีหนึ่งแล้ว บริษัทจะทดรองจ่ายเงินค่า พาหนะเหมาจ่ายให้แก่พนักงานดังกล่าวในอัตราที่กำหนด เช่น 2,500 บาท เป็นต้น โดยไม่ว่าพนักงานดังกล่าวจะเดินทางไปศาลกี่ครั้งก็ตามจนกว่าจะฟ้องร้อง ดำเนินคดีเสร็จสิ้น พนักงานก็ไม่มีสิทธิเบิกค่าพาหนะจากบริษัทอีก และในการเบิก ค่าพาหนะเหมาจ่ายของพนักงาน พนักงานจะจัดทำใบขอเบิกค่าใช้จ่ายซึ่งระบุ รายละเอียดของลูกหนี้ที่ฟ้องร้อง โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานหรือเอกสาร ประกอบการเบิกอย่างอื่นแต่อย่างใด ทั้งนี้ จำนวนครั้งที่เดินทางไปศาลของแต่ละคดี มีจำนวนไม่เท่ากันโดยขึ้นอยู่กับแต่ละคดี ๆ ไป (2) ค่าพาหนะตามจริง โดยจะแยกตามประเภทของพาหนะ ได้แก่ ค่ารถ Taxi (เดินทางในกรุงเทพมหานคร และเขตปริมณฑล) ค่ารถทัวร์และค่ารถไฟ (เดินทางไปต่างจังหวัด) และค่าเครื่องบิน ซึ่งเฉพาะค่าเครื่องบินเท่านั้นที่พนักงาน ของบริษัทสามารถขอใบเสร็จรับเงินระบุชื่อผู้ว่าจ้างว่าเป็นผู้ชำระเงินจากผู้จำหน่าย ตั๋วเครื่องบินได้ ส่วนค่ารถ Taxi พนักงานของบริษัทจะไม่มีเอกสารหลักฐาน ประกอบการเบิกค่ารถ Taxi แต่อย่างใด โดยพนักงานจะจัดทำใบขอเบิกค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางและค่าใช้จ่ายเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าว จากบริษัท และสำหรับค่ารถทัวร์และค่ารถไฟ พนักงานของบริษัทก็มีหลักฐานการ ชำระค่าใช้จ่ายเป็นตั๋วโดยสาร (ซึ่งในตั๋วโดยสารจะมีระบุแต่ชื่อผู้โดยสารเท่านั้น) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการเบิกค่าใช้จ่ายจากบริษัท (3) ค่านำหมาย ในการให้บริการงานว่าความให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อมีการ ฟ้องร้องดำเนินคดีโดยผู้ว่าจ้างเป็นโจทก์ต่อศาลแล้ว พนักงานของบริษัทในฐานะ ทนายความของผู้ว่าจ้างจะร้องขอพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลเพื่อให้จัดส่งหมายส่ง คำฟ้องให้จำเลย โดยจะต้องเสียค่าพาหนะในการนำหมายศาลให้แก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ของศาล ทั้งนี้ตามอัตราที่เจ้าพนักงานของศาลกำหนด และเมื่อพนักงาน ของบริษัทชำระค่านำหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลแล้ว พนักงาน เจ้าหน้าที่ของศาลจะไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินสำหรับค่านำหมายดังกล่าว ซึ่งเมื่อ พนักงานของบริษัทมาเบิกค่านำหมายนั้น พนักงานของบริษัทก็จะจัดทำใบรับรอง แทนใบเสร็จโดยระบุรายละเอียดของคดีและการนำหมายและค่านำหมายดังกล่าว เพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากบริษัท (4) ค่าโรงแรมที่พัก ในกรณีที่พนักงานของบริษัทเดินทางไปปฏิบัติงานที่ ต่างจังหวัด เช่น ไปว่าความประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น เมื่อพนักงานได้พักที่ โรงแรม ณ ต่างจังหวัด และพนักงานก็ได้ชำระค่าบริการโรงแรมดังกล่าว โดยขอให้ โรงแรมออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีระบุชื่อผู้ว่าจ้างเป็นผู้ชำระ และพนักงานก็ จะใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบในการเบิกเงินค่าใช้จ่าย (5) ค่ารับรอง ในกรณีที่การให้บริการของพนักงานของบริษัทให้แก่ผู้ว่าจ้าง จะต้องมีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่และ/หรือลูกค้าผู้ติดต่อธุรกิจของผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้าง จะมอบหมายให้พนักงานของบริษัทดำเนินการจัดให้มีการเลี้ยงรับรองแก่เจ้าหน้าที่ และ/หรือลูกค้าดังกล่าว และเมื่อมีการเลี้ยงรับรอง พนักงานก็จะขอให้ร้านอาหารที่ เลี้ยงรับรองออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีระบุชื่อผู้ว่าจ้างเป็นผู้ชำระ และ พนักงานก็จะใช้เอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบในการเบิกเงิน ค่าใช้จ่าย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. กรณีในการให้บริการงานว่าความ เมื่อบริษัทได้จ่ายคืนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน ได้แก่ ค่าพาหนะเหมาจ่าย ค่าพาหนะตามจริง ค่านำหมาย ค่า โรงแรมที่พัก และค่ารับรอง เมื่อบริษัทเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นจากผู้ว่าจ้าง โดยมีหลักฐานประกอบการเบิกค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวข้างต้น (1) - (5) แล้ว บริษัท จะต้องเรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อชำระค่าใช้จ่ายคืนให้แก่บริษัทหรือไม่ บริษัทมีความเห็นว่าเนื่องจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวทั้งหมดเกิดขึ้น เนื่องจาก การให้บริการงานว่าความ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่ง ประมวลรัษฎากร บริษัทจึงไม่ต้องเรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าใช้จ่าย ดังกล่าวจากผู้ว่าจ้างแต่อย่างใด 2. กรณีในการให้บริการงานกฎหมายสำหรับร่างและตรวจสอบสัญญาและ เอกสารทางกฎหมายและประเมินราคา เมื่อบริษัทได้จ่ายคืนเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน ได้แก่ ค่าพาหนะตามจริง ค่าโรงแรมที่พัก และค่ารับรอง เมื่อบริษัท เรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นจากผู้ว่าจ้าง โดยมีหลักฐานประกอบการเบิก ค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวข้างต้น (2)(4) และ (5) แล้ว บริษัทจะต้องเรียกเก็บค่า ภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่ และผู้ว่าจ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อชำระค่าใช้จ่าย คืนให้แก่บริษัทหรือไม่ 3. ในการเบิกค่ารถ Taxi และค่านำหมายของพนักงานของบริษัท ซึ่ง พนักงานจะต้องจัดทำใบขอเบิกค่าใช้จ่าย และสำหรับค่านำหมาย พนักงานจะต้อง จัดทำใบรับรองแทนใบเสร็จด้วย หากบริษัทจะกำหนดให้พนักงานจัดทำใบขอเบิก ค่าใช้จ่าย ซึ่งระบุรายละเอียดของค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่าเป็นการเดินทางไปติดต่อใคร เมื่อใด ระยะทางไปกลับระหว่างสถานที่ใด และจำนวนค่าใช้จ่ายเท่าใด สำหรับการ เบิกค่ารถ Taxi และค่านำหมายในคดีใด สำหรับการเบิกค่านำหมายแล้ว โดยบริษัท จะไม่กำหนดให้พนักงานจะต้องจัดทำใบรับรองแทนใบเสร็จ จะสามารถกระทำได้ หรือไม่ และการไม่มีใบรับรองแทนใบเสร็จดังกล่าว จะมีผลทางภาษีในการที่บริษัท จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานแล้วบริษัทถือเป็นรายจ่ายได้หรือไม่ หรือในการที่ บริษัทเรียกค่าใช้จ่ายดังกล่าวคืนจากผู้ว่าจ้าง หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีการให้บริการงานว่าความ บริษัทฯ ให้บริการตั้งแต่ติดตาม ทวงหนี้ เร่งรัดหนี้ ฟ้องคดี และบังคับคดี สำหรับงานที่ทนายความได้ทำการว่าความหรือว่า ต่างแก้คดีในศาลเท่านั้นที่ถือว่าเป็นการว่าความซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะรายได้จากการ ว่าความ บริษัทฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการงานว่าความจากผู้ว่าจ้าง บริษัทฯ ไม่ต้อง เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7(1) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 2. กรณีการให้บริการงานอื่นที่มิใช่การว่าความ หรือว่าต่างแก้คดีในศาล เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก ผู้ว่าจ้าง ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ว่าจ้าง จ่ายค่าที่ปรึกษาอันเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 8 แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 เว้น แต่รายจ่ายเฉพาะส่วนที่บริษัทฯ จ่ายทดรองไปก่อนในนามของผู้ว่าจ้างให้แก่ส่วน ราชการและมีหลักฐานใบรับถูกต้อง เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าพยานศาล บริษัทฯ ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3. กรณีบริษัทฯ จ่ายคืนค่ารถ Taxi ให้พนักงานตามใบขอเบิกค่าใช้จ่าย และจ่ายคืนค่านำหมายให้พนักงานตามใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน ซึ่งตาม หลักฐานดังกล่าวจะมีรายละเอียดและจำนวนค่าใช้จ่ายของการดำเนินงาน โดย บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานไม่ต้องจัดทำใบขอเบิกค่าใช้จ่ายและใบรับรองแทน ใบเสร็จรับเงิน กรณีดังกล่าวถ้าบริษัทฯ มีเอกสารหรือหลักฐานใดที่แสดงว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ใดหรือใครเป็นผู้รับเงินนั้นแล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่าย ดังกล่าวมาถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวล รัษฎากร |
เลขตู้ | : 68/33636 |