เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10421
วันที่: 14 ธันวาคม 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีโอนเงินไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 66 มาตรา 77/1(1) และมาตรา 77/2(1)
ข้อหารือ: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ บริษัทฯ ได้จัดการแข่งขันกีฬาเทนนิส ในประเทศไทยโดยได้รับการติดต่อจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ซึ่งเป็นผู้ร่วมสนับสนุนการจัดการแข่งขันให้บริษัทฯ ดำเนินการติดต่อประสานงานกับบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าตัวแทนในการติดต่อจัดหานักธุรกิจ นักกีฬา และบุคคลต่าง ๆ
ที่มีชื่อเสียงจากทุกประเทศทั่วโลก โดยบริษัท A ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ให้ทำหน้าที่ติดต่อนักเทนนิสชื่อ B เข้ามาในประเทศ
ไทยเพื่อทำการแข่งขันกีฬาเทนนิสในประเทศไทยและเป็นพรีเซ็นเตอร์จัดทำเทปโปรโมตให้การท่องเที่ยวฯ ในการนี้ บริษัทฯ จำเป็นต้องโอนเงินค่าดำเนินการจัดจ้างนักเทนนิส
ดังกล่าวให้บริษัท A แทนการท่องเที่ยวฯ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้ประสานงานติดต่อกับบริษัท A และการท่องเที่ยวฯ จะชำระเงินคืนให้ บริษัทฯ หารือว่า เงินที่บริษัทฯ โอนไปให้
กับบริษัท A ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นค่าดำเนินการนำนักเทนนิสเข้ามาในประเทศไทย ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬาเทนนิส ได้รับการว่าจ้างจากการท่องเที่ยวฯ ให้ติดต่อจัดหา B นักกีฬาชาวต่างประเทศเข้ามาทำการแข่งขันในรายการดังกล่าว และเป็น
พรีเซ็นเตอร์ให้การท่องเที่ยวฯเป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท บริษัทฯ จึงเป็นผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะบริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการประกอบกิจการจำนวน
ดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.102/2544ฯ ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2544
2. กรณีบริษัทฯ ตกลงให้บริษัท A เป็นผู้ดำเนินการติดต่อจัดหา B. นักกีฬาชาวต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในประเทศไทยและเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้การท่องเที่ยวฯ บริษัท A จึงเป็น
คู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ให้บริษัท A ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัท A มีหน้าที่ต้องเสียภาษี
เงินได้นิติบุคคลจากรายได้ที่ได้รับจากการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดงหรือแข่งขันในประเทศไทย ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้ที่เป็นค่าตอบแทนในการติดต่อจัดหานักแสดงสาธารณะเท่านั้น
หากบริษัท A ได้รับเงินค่าตอบแทนรวมกับเงินได้ของนักแสดงสาธารณะอยู่ด้วย ให้หักเงินได้ของนักแสดงสาธารณะนั้นออกก่อน โดยบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีนำส่งจากเงินได้
พึงประเมินที่จ่ายซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากมี
ข้อเท็จจริงว่าบริษัท A ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท A จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 5 และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3
แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ประกอบกับข้อ 9(3) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ป.102/2544ฯ ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2544
เลขตู้: 68/33734

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020