เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./8568 |
วันที่ | : 17 ตุลาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการก่อสร้างโรงงาน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา82/3 มาตรา 82/5(6) มาตรา 89(4) มาตรา 89/1 และมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2543 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ประกอบธุรกิจ นำเข้าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับไฟฟ้าอุตสาหกรรม ได้แก่ จากบริษัทใน เครือประเทศและประเทศที่มีสาขา มาขายในประเทศไทย บริษัทฯ ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประเภท 7.37 มีสำนักงานขายอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการซื้อมาขายไปจนถึง ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2544 บริษัทฯ และบริษัทในเครือในต่างประเทศเห็นว่า อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีอัตราเจริญเติบโตดีขึ้นและบริษัทผู้ผลิต รถยนต์มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบรถยนต์มากขึ้น บริษัทในเครือในต่างประเทศ จึงมีโครงการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อประกอบกิจการ ผลิตรีเรย์และอิเล็กทรอนิกส์ที่จังหวัด อ. และจะขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ประเภท 5.5 กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากมีข้อขัดข้องบางประการจึงทำให้ไม่สามารถจัดตั้งบริษัทใหม่ได้ทันที บริษัทฯ จึงใช้เงินทุนของบริษัทแม่ในต่างประเทศลงทุนก่อสร้างโรงงาน โดยเช่าซื้อ ที่ดินจากนิคมอุตสาหกรรม จังหวัด อ. ทำหนังสือสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงงานผลิต สินค้าบนที่ดินดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อโรงงานผลิตสินค้าก่อสร้าง เสร็จ บริษัทฯ ได้ไปแจ้งเพิ่มสาขาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และเริ่มทำการผลิต และขายสินค้าในเดือนกรกฎาคม 2544 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 สำหรับการขายในประเทศ และอัตราร้อยละ 0 กรณีส่งออก จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2547 รวมเป็นระยะเวลา 2 ปี 9 เดือนเศษ ต่อจากนั้นได้โอนกิจการผลิตสินค้า ทั้งหมดให้ บริษัท ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายไทยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัท จึงหารือว่า 1.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการก่อสร้างโรงงาน เป็นภาษีซื้อที่ เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรงทั้งของผู้โอนและผู้รับโอน เพื่อความเป็นธรรม จึงควร ถือเป็นภาษีซื้อที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักใน การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 1.2 หากกรมสรรพากรเห็นว่าภาษีซื้อจากการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว ข้างต้นเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ แล้ว ขอให้พิจารณาผ่อนผัน ดังนี้ (1) ขอให้ลดเงินเพิ่มภาษี และงดเบี้ยปรับภาษีอากร (2) บริษัทฯ ได้ยกประเด็นขึ้นมาหารือโดยสมัครใจและไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยง ภาษีอากร จึงขอขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 30) รวม 20 เดือนภาษีออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2548 |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสร้าง โรงงานผลิตสินค้า บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากการสร้างโรงงานไปหักออก จากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ภายหลัง บริษัทฯ ขายโรงงานนั้นไปภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จ สมบูรณ์ ภาษีซื้อดังกล่าวจึงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวล รัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 98)ฯ ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2542 บริษัทฯ จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่ง ประมวลรัษฎากร พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณี บริษัทฯ ขอขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี สำหรับ เดือนภาษีกรกฎาคม 2544 ถึงเดือนภาษีมีนาคม 2547 ออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2548 โดยอ้างว่า บริษัทฯ ยกประเด็นขึ้นมาหารือโดยสมัครใจ ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยง ภาษีอากรและบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30เพิ่มเติม สำหรับเดือนภาษีดังกล่าวชำระ ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มไว้บางส่วนแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548 กรณี ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลาได้ จึงไม่อาจขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ได้ 3. กรณี บริษัทฯ ขอให้พิจารณาลดเงินเพิ่มและงดเบี้ยปรับภาษีอากรนั้น เนื่องจากการพิจารณางดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีดังกล่าวอยู่ในอำนาจการ พิจารณาของสรรพากรภาคตามข้อ 2(3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.140/2547ฯ ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 จึงขอให้สำนักงานสรรพากรภาค 1 พิจารณา ดำเนินการต่อไป สำหรับเงินเพิ่มนั้นไม่อาจงดให้แก่บริษัทฯ ได้เนื่องจากไม่มี บทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ |
เลขตู้ | : 68/33617 |