เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./296 |
วันที่ | : 13 มกราคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(8) มาตรา 77/2(1) มาตรา 80 มาตรา 82(1) มาตรา 85/1 มาตรา 85/1(1) มาตรา 88(1) มาตรา 88/6(1) มาตรา 89(1) และมาตรา 90/2(2) |
ข้อหารือ | : หารือปัญหาเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร รายนาย ร. ประกอบกิจการขายวัสดุสำนักงาน สถาน ประกอบการชื่อ ร้าน อ. มีรายรับถึงเกณฑ์ที่จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2546 จำนวน 2,705,167.42 บาท แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 นาย ร. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีมกราคม-กันยายน 2546 พร้อมกับชำระเงินภาษี บางส่วน และตั้งเป็นหนี้ภาษีอากรค้าง ตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บ.ช.35) จำนวน 9 ฉบับ เป็นเงินจำนวน 233,698 บาท แต่นาย ร. มิได้ชำระภาษี อากรค้างดังกล่าวแต่อย่างใด สท. ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง โดยใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 88(1) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร สท.มีความเห็นว่า กำหนดเวลาในการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6(1)(ก)(ข)และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อาจนำมาใช้บังคับกับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ควรใช้อายุความใช้สิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
แนววินิจฉัย | : 1. นาย ร. ประกอบกิจการขายวัสดุสำนักงาน ถือเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ร. ในฐานะผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) มาตรา 82(1) และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีตามข้อเท็จจริงนาย ร. ประกอบกิจการมียอดขายเกิน 1,200,000 บาท ต่อปี ตั้งแต่ปี 2546 นาย ร. จึงมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มูลค่าของ ฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2542 เมื่อนาย ร. ไม่ได้ยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น การประกอบกิจการของนาย ร. ตั้งแต่ปี 2546 เป็นการประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร ดังนี้ 1.1 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากยอดขาย ตามมาตรา 80 และมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร 1.2 เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร 1.3 เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร 1.4 ต้องระวางโทษปรับ ตามมาตรา 90/2(2) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีนาย ร. มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นาย ร. ยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินพบว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี มูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ตามมาตรา 88(1) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ตามมาตรา 88/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นกำหนดเวลาใน การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับผู้ประกอบการ และตามมาตรา 77/1(5) และมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการไม่ว่าจะได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่ ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และหากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนก็มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 83 แห่งประมวล รัษฎากร เมื่อบทบัญญัติมาตรา 88/6(1)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมี กำหนดเวลาสองปีในการประเมินภาษีเฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบ แสดงรายการภาษี และมาตรา 88/6(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีกำหนดเวลาสิบปีในการประเมินภาษีสำหรับกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมิได้ยื่นแบบ แสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย เมื่อนาย ร. มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนั้น กำหนดเวลาในการประเมินภาษีตาม มาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีของนาย ร. ได้ และเมื่อประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดระยะเวลาในประเมินภาษีไว้ จึงต้องใช้กำหนดเวลาตามอายุความทั่วไป ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ให้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเก็บค่าภาษีอากรได้ภายใน 10 ปี |
เลขตู้ | : 69/33822 |