เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/10025
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2548
เรื่อง: อากรแสตมป์ กรณีการยกเว้นการออกใบรับตามมาตรา 105(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: ข้อ 13 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23)ฯ
ข้อหารือ: 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออกสินค้าไปขายให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ โดย
ในการขายสินค้านั้นจะมีเงื่อนไขการชำระเงินที่แตกต่างกันไปแล้วแต่จะได้มีการตกลง
กับผู้ซื้อ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีเงื่อนไขการชำระเงินดังนี้
1.1 ชำระโดย Demand Draft ซึ่งบริษัทฯ จะต้องนำฝากเข้าบัญชีธนาคาร
ในประเทศไทยที่บริษัทฯ มีบัญชีอยู่ โดยธนาคารในประเทศไทยจะเรียกเก็บเงินจาก
ธนาคารในต่างประเทศผู้ออก Demand Draft ฉบับดังกล่าว และเมื่อเรียกเก็บเงินได้
แล้ว จึงจะนำเงินที่เรียกเก็บได้เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทฯ โดยธนาคารจะ
มีหนังสือแจ้งยอดเงินที่นำเข้าบัญชี (Credit Advice) ให้บริษัทฯ ไว้เป็นหลักฐาน
1.2 ชำระโดยการโอนเงิน (T/T) จากบัญชีเงินฝากธนาคารในต่างประเทศของ
ผู้ซื้อมายังบัญชีเงินฝากธนาคารในประเทศไทยของบริษัทฯ ซึ่งอาจจะมีการโอนผ่าน
ธนาคารผู้จ่ายเงิน (Paying Bank) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยธนาคารในประเทศไทยจะ
มีหนังสือแจ้งยอดเงินที่โอนเข้าบัญชี (Credit Advice) ให้บริษัทฯ ไว้เป็นหลักฐาน
1.3 ชำระโดยผ่านการเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange หรือ
B/E) ซึ่งจะต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่บริษัทฯ มีบัญชีอยู่ โดยบริษัทฯ อาจตกลง
รูปแบบของการชำระเงินกับผู้ซื้อในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ การชำระเงิน
ด้วยเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit หรือ L/C) การเรียกเก็บเงินเมื่อมีการส่ง
มอบเอกสาร (Document against Payment หรือ D/P) และการเรียกเก็บเงินตาม
กำหนดเวลา (Document against Acceptance หรือ D/A)
2. ในการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อ ตามปกติบริษัทฯ จะดำเนินการ
ภายหลังจากที่ได้มีการส่งสินค้า (Loading) ให้กับผู้ซื้อแล้ว โดยบริษัทฯ จะต้อง
จัดเตรียม B/E และเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน L/C หรือตามที่ตกลงไว้กับผู้ซื้อ
แล้วแต่กรณี ส่งให้กับธนาคารที่บริษัทฯ มีบัญชีอยู่เป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าสินค้าดังกล่าว
และธนาคารจะนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทฯ แยกเป็นแต่ละกรณี
3. การรับซื้อตั๋วเงิน (Negotiation) ตามข้อ 2. จะเกิดขึ้นในกรณีที่ตั๋วเงินยังไม่
ถึงกำหนด แต่บริษัทฯ มีความประสงค์จะขอรับเงินก่อน โดยใช้วงเงินสินเชื่อที่
บริษัทฯ มีอยู่กับธนาคาร ซึ่งธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือส่วนลดจาก
บริษัทฯ เนื่องจากการจ่ายเงินให้แก่บริษัทฯ เป็นการล่วงหน้าก่อนวันถึงกำหนดของ
ตั๋วเงินดังกล่าว โดยในวันที่ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทฯธนาคารจะมีหนังสือ
แจ้งยอดเงินที่นำเข้าบัญชี (Credit Advice) ให้บริษัทฯ ไว้เป็นหลักฐาน แต่ภายหลัง
จากที่ธนาคารเรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินได้แล้ว ธนาคารจะไม่มีการนำเงินใด ๆ เข้า
บัญชีให้บริษัทฯ อีก เนื่องจากถือว่า ได้จ่ายเงินให้กับบริษัทฯ ณ ขณะที่มีการรับซื้อ
ตั๋วเงินโดยครบถ้วนแล้ว
4. บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า หากบริษัทฯ บันทึกการรับเงินไว้ในหนังสือแจ้ง
ยอดเงินที่นำเข้าบัญชี (Credit Advice) ซึ่งได้รับมาจากธนาคารโดยใช้คำว่า “จ่าย
แล้ว” หรือ “ได้รับชำระแล้ว” สำหรับการรับชำระค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
บริษัทฯ ไม่ต้องออกใบรับตามมาตรา 105(1) แห่งประมวลรัษฎากร อีกต่างหากได้
โดยให้ถือว่า ได้มีการปฏิบัติตามข้อ 13 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
อากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) เรื่อง กำหนดวิธีการในการออกใบรับและใบส่งของกับ
ยกเว้นการออกใบรับและใบส่งของในบางกรณี ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527
แล้ว ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย: กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าออกไปให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ และได้รับการชำระเงินค่า
สินค้าผ่านธนาคารของผู้ซื้อในรูปของตั๋วเงิน ได้แก่ การชำระเงินด้วยเลตเตอร์ออฟ
เครดิต (Letter of Credit หรือ L/C) การเรียกเก็บเงินเมื่อมีการส่งมอบเอกสาร
(Document against Payment หรือ D/P) และการเรียกเก็บเงินตามกำหนดเวลา
(Document against Acceptance หรือ D/A) ซึ่งตั๋วเงินดังกล่าวจะระบุวันชำระเงินค่า
สินค้าตามวันที่กำหนดในตั๋วเงิน แต่บริษัทฯ จะขอรับชำระเงินค่าสินค้าล่วงหน้าก่อน
วันถึงกำหนดในตั๋วเงิน โดยในวันที่ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทฯ ธนาคารจะมี
หนังสือแจ้งยอดเงินที่นำเข้าบัญชีให้บริษัทฯ ไว้เป็นหลักฐาน แต่ภายหลังจากที่
ธนาคารเรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินได้แล้ว ธนาคารจะไม่มีการนำเงินใด ๆ เข้าบัญชีเงิน
ฝากให้แก่บริษัทฯ อีก กรณีดังกล่าวจึงไม่เข้าลักษณะการชำระเงินค่าสินค้าโดย
วิธีการโอนเงินเข้าธนาคาร ตามข้อ 13 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ
อากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23)ฯ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 แต่เข้าลักษณะเป็นการ
ชำระเงินค่าสินค้าของบริษัทฯ ผ่านธนาคารก่อนถึงกำหนดชำระตามตั๋วเงิน ซึ่งบริษัทฯ มี
หน้าที่ต้องออกใบรับตามมาตรา 105(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในวันที่ธนาคารโอนเงิน
เข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทฯ
เลขตู้: 68/33707

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020