เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./221
วันที่: 12 มกราคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินชดเชยค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2 และ มาตรา 62/5(3)
ข้อหารือ: บริษัท อ. ประกอบกิจการเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ทำสัญญาเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ บริษัท อ.
จะได้รับสิทธิการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท A แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย บริษัท อ.และ บริษัท A ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่และค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดและการ
ส่งเสริมการขายสินค้าในประเทศไทย โดยบริษัท A จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท อ.และจ่ายเงินคืนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง เพื่อสนับสนุนให้บริษัท อ.ขายสินค้าได้โดย
บริษัท อ. จะจัดทำใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินคืนจากบริษัท A
1. เงินชดเชยที่บริษัท อ. คืนจากบริษัท A ตามข้อตกลงเพื่อสนับสนุนการขายสินค้า เงินชดเชยดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกต้องหรือไม่
2. ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดและการส่งเสริมการขายสินค้าที่บริษัท อ. ได้จ่ายไป บริษัท อ. มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการ
คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษีได้หรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. เงินชดเชยค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดและการส่งเสริมการขายซึ่งบริษัท A จ่ายคืนให้แก่บริษัท อ.ตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ถือเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการตลาด
เพื่อจัดกิจกรรมด้านการตลาดของบริษัท อ. หากบริษัท อ. มิได้ให้บริการแก่บริษัท A ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม บริษัท อ. ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินชดเชย
ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากบริษัท A ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
2. ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการส่งเสริมการขายสินค้าที่บริษัท อ.ได้จ่ายไป ถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา
82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท อ. มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/33813

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020