เลขที่หนังสือ | : กค 0706/9344 |
วันที่ | : 10 พฤศจิกายน 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีนำทรัพย์สินส่วนตัวมา ลงทุนและการบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือ ราย บริษัท นงนุชแลนด์สเคป แอนด์ การ์เด้น ดีไซน์ จำกัด |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39 มาตรา 42(9) และมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท น. จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดสวน ดูแลสวนและขายต้นไม้ ได้ขอหารือดังนี้ 1. บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดสวน ดูแลสวน และขายต้นไม้ให้แก่ เอกชนทั่วไป รวมทั้งส่วนราชการต่าง ๆ ต่อมาในปี 2544 ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้ นำต้นไม้อันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมาลงทุนในบริษัทฯ เพื่อขยายกิจการ โดยบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนจำนวน 14 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้นไม้ที่นำมาลงทุนเป็นต้นไม้ที่อยู่ใน วัยเจริญพันธุ์ และในการนำมาลงทุนได้มีการประเมินราคาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ จึงขอทราบว่า กรณีผู้ถือหุ้นนำต้นไม้อันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่มีมาแต่เดิมมาลงทุน จะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในการคำนวณภาษี สิ้นปี หรือได้รับยกเว้นเงินได้ตามมาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็น การขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร 2. ต้นไม้จากการซื้อบางส่วน ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใช้งานได้เลย ซึ่งใช้สำหรับงาน บริการ เช่น จัดสวน ในทางปฏิบัติของการบันทึกบัญชี ถือเป็นต้นทุนของงาน บริการ และต้นไม้อีกส่วนหนึ่งอยู่ในแปลงผลิต ซึ่งทั้งหมดสามารถใช้ได้ทุกขนาด แล้วแต่งานและความประสงค์ของลูกค้า โดยต้นทุนที่ลงในแปลงผลิต ประกอบด้วย ค่าแรงคนงาน ค่าปุ๋ย ค่าวิจัย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเสื่อมราคาเครื่องมือ และอุปกรณ์ และ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการผลิต บริษัทฯ ประสบปัญหาในการตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวด เนื่องจากต้นไม้มีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วและมีอายุจำกัดตามแต่ละสายพันธุ์ อีกทั้ง มีบางส่วนสูญเสียเนื่องจากธรรมชาติ บริษัทฯ ไม่สามารถที่จะคำนวณต้นทุนต่อ หน่วยเสมือนสินค้าโดยปกติทั่วไปได้ จึงต้องการทราบวิธีการปฏิบัติและการบันทึก บัญชีเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้นำต้นไม้ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัวมาลงทุนเพื่อ ขยายกิจการบริษัทฯ โดยตีมูลค่าต้นไม้ชำระเป็นค่าหุ้นเพื่อการเพิ่มทุน ถือเป็นการ นำสังหาริมทรัพย์มาลงเป็นหุ้น โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ให้แก่ บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นได้หุ้นเป็นค่าตอบแทน ดังนั้น มูลค่าหุ้นที่ได้รับจึงเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และหากต้นไม้ตามข้อเท็จจริงไม่ใช่ ต้นไม้ที่ได้มาโดยทางมรดก ประกอบกับการโอนกรรมสิทธิ์ในต้นไม้ที่สามารถ คำนวณได้จากปริมาณต้นไม้และมูลค่าของต้นไม้ จึงถือได้ว่า ผู้โอนมีเจตนาได้มาโดย มุ่งในทางการค้า เข้าลักษณะเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้า หรือหากำไร เป็นเหตุให้ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตาม มาตรา 42(9) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ถือหุ้นจะต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2. กรณีต้นไม้ที่ซื้อมาใช้ในงานจัดสวน บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามวิธีการทางบัญชีที่ รับรองทั่วไป และคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตาม มาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนต้นไม้ที่สูญเสียเนื่องจากธรรมชาติ การ พิจารณาต้นทุนหรือรายจ่ายของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.79/2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติ กรณีการทำลายของ เสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 |
เลขตู้ | : 68/33672 |