เลขที่หนังสือ | : กค 0706/9346 |
วันที่ | : 10 พฤศจิกายน 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าติดตั้งและซ่อมแซมอาวุธสงครามไปต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 76 ทวิ |
ข้อหารือ | : ส่วนราชการยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) สำหรับเดือนภาษีมกราคม ถึงมีนาคม ตุลาคมและธันวาคม 2542 โดยแจ้งประเภทเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าบริการ ให้ผู้ประกอบการต่างประเทศตามสัญญา จำนวน 5 ชุด ดังนี้ สัญญาชุดที่ 1 บริษัท H ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคเข้ามา ติดตั้งระบบควบคุมการยิงของเรือในประเทศไทย โดยบริษัท H เนเธอร์แลนด์เป็น ผู้จัดการอุปกรณ์ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 9 สัปดาห์ สัญญาชุดที่ 2 ส่วนราชการส่งอะไหล่ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีเอ็กโซเซ็ทให้บริษัท A ในประเทศฝรั่งเศสซ่อม โดยบริษัท A ฝรั่งเศสเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์กำหนดแล้ว เสร็จภายใน 12 เดือน สัญญาชุดที่ 3 บริษัท G ในประเทศอังกฤษ ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคเข้ามาติดตั้ง อุปกรณ์ตอร์ปิโดสติงเรย์ ของเรือในประเทศไทย กำหนดแล้วเสร็จภายใน 4 สัปดาห์ สัญญาชุดที่ 4 ส่วนราชการส่ง TV CAMERA ระบบเครื่องควบคุมการยิงให้ บริษัท B ประเทศอังกฤษซ่อม โดยบริษัท B เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์ กำหนดแล้วเสร็จ ภายใน 27 สัปดาห์ สัญญาชุดที่ 5 บริษัท C ในประเทศจีนเข้ามาซ่อมเครื่องทดสอบระบบอาวุธ ปล่อยนำวิถีในประเทศไทย กำหนดแล้วเสร็จภายใน 25 วันทำงาน ต้องหักภาษีจาก เงินได้พึงประเมินที่จ่ายอย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1.กรณีที่ 1 ส่วนราชการตกลงว่าจ้าง บริษัท H ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามสัญญาจ้างติดตั้งระบบเครื่อง ควบคุมการยิง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท H ส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคเข้ามาติดตั้ง ระบบฯ ในประเทศไทยประมาณ 9 สัปดาห์ กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัท H ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อใน การประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญา ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เพื่อ การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษี เก็บจากเงินได้และจากทุน กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัท H มีสถานประกอบการถาวรใน ประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนั้น บริษัท H จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และเมื่อส่วนราชการจ่ายเงินได้ ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด 2.กรณีที่ 2 ส่วนราชการตกลงว่าจ้างบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส ตามสัญญาจ้างซ่อมอะไหล่ระบบอาวุธปล่อย นำวิถีเอ็กโซเซ็ท ให้ซ่อมอะไหล่ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีเอ็กโซเซ็ท จำนวน 6 รายการ โดยส่วนราชการจะจัดส่งอะไหล่ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีเอ็กโซเซ็ทไปให้ บริษัท A ซ่อมที่ประเทศฝรั่งเศส กรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่า บริษัท A ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการบริการซึ่งถือเป็น สาระสำคัญของสัญญาทั้งหมดกระทำในประเทศฝรั่งเศส และเนื่องจากเงินได้ ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวล รัษฎากรแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อส่วนราชการจ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจาก เงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด 3.กรณีที่ 3 ส่วนราชการตกลงว่าจ้าง บริษัท G ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ตามสัญญาจ้าง เจ้าหน้าที่เทคนิคในการติดตั้งอุปกรณ์ตอร์ปิโดสติงเรย์ ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคใน การติดตั้งอุปกรณ์ตอร์ปิโดสติงเรย์ PMW-49A ของเรือในประเทศไทย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท G ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ตอร์ปิโด สติงเรย์ฯ ในประเทศไทยประมาณ 4 สัปดาห์ กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัท G ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อใน การประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ตามข้อ 8 แห่งอนุสัญญา ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและ ไอร์แลนด์เหนือเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัท G มีสถาน ประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนั้น บริษัท G จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่า ด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และเมื่อส่วนราชการจ่ายเงินได้ ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด 4.กรณีที่ 4 ส่วนราชการตกลงว่าจ้าง บริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายของสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ตามสัญญาจ้าง ซ่อม TV CAMERA ระบบเครื่องควบคุมการยิง SEA ARCHER ให้ซ่อม TV CAMERA โดยส่วนราชการจะส่งไปให้บริษัท B ที่สหราชอาณาจักรและต้องส่งมอบ งานในประเทศไทยเมื่อซ่อมเสร็จ กรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่า บริษัท B ประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการบริการซึ่งถือเป็น สาระสำคัญของสัญญาทั้งหมดกระทำในประเทศอังกฤษ และเนื่องจากเงินได้ ดังกล่าวเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท B จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อส่วนราชการจ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจาก เงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด 5.กรณีที่ 5 ส่วนราชการมีหนังสือไปยังบริษัท C แห่งประเทศสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ตกลงจ้างบริษัท C บำรุงรักษาอุปกรณ์ทดสอบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท C ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาซ่อมแซมเครื่องทดสอบระบบ อาวุธปล่อยนำวิถีในประเทศไทยประมาณ 25 วันทำการ กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัท C ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำ การติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวล รัษฎากร อย่างไรก็ดี เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่ง ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่า บริษัท C มีสถาน ประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนั้น บริษัท C จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และเมื่อส่วนราชการจ่ายเงินได้ ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 68/33673 |