เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./7898
วันที่: 21 กันยายน 2548
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ, มาตรา 77/1, มาตรา 77/2 และข้อ 11(3) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545ฯ
ข้อหารือ: สำนักงานสรรพากรภาค หารือ กม. เรื่อง ปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ราย บริษัท ก. สรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
1. สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท ก. กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มขอคืนภาษีสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงเดือนภาษีกันยายน 2546 และเดือนภาษีพฤศจิกายนถึงเดือนภาษีธันวาคม 2546 รวมเป็นเงิน 2,015,059.83 บาท ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ก. เป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศไทย และได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 ประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษา และประสานงานในการจัดหาสถานที่ ทีมงานและอุปกรณ์สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์และโฆษณา บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลงกับบริษัท U จากประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งได้รับอนุมัติให้ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจากคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) การจัดเตรียมการผลิตระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2545 ถึง 23 มีนาคม 2546 บริษัทฯ ได้รับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าผลิตฉากภาพยนตร์ ค่าฟิล์ม ค่าออกแบบการผลิต โดยได้รับเงินสดเป็นงวด ๆ หากเงินเหลือต้องส่งกลับคืนบริษัทประเทศฝรั่งเศส จากหลักฐานทางบัญชีธนาคาร บริษัทฯ ได้รับเงินโอนเป็นค่าอำนวยการผลิตจำนวน 123,091,588.61 บาท บริษัทฯ ลงบัญชีเป็นรายรับล่วงหน้า โดยออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0 เป็นค่าอำนวยการผลิต ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 ถึงกรกฎาคม 2546 และมีการส่งเงินกลับคืนบริษัทฝรั่งเศส โดยออกใบลดหนี้ในเดือนกันยายน 2546 จำนวน 5,000,594.50 บาท
(2) กำหนดเวลาถ่ายทำในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม ถึง 21 มิถุนายน 2546 รวม 13 สัปดาห์ ในการถ่ายทำจะมีคณะถ่ายทำภาพยนตร์ นักแสดงจากต่างประเทศประมาณ 20 คน และนักแสดงสมทบในประเทศไทยประมาณ 200 คน พร้อมทั้งได้นำเข้ากล้องและอุปกรณ์ในการถ่ายทำในนามของบริษัทฯ
(3) ตามข้อตกลงบริษัทฯ ได้รับค่า Overhead (ค่าโสหุ้ย) เดือนละ 450,000 บาท และได้รับค่าธรรมเนียม เดือนละ 300,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2546 แต่บริษัทฯ ได้รับค่าธรรมเนียมสำหรับผู้บริการจำนวน 3 คน เดือนละ 505,000 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2546 โดยออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0
(4) ภาพยนตร์จะผลิตเสร็จสมบูรณ์ในประเทศไทยและส่งออกให้ผู้ว่าจ้างในประเทศฝรั่งเศสพร้อมด้วยเทปบันทึกเสียงในนามของบริษัทฯ โดยผ่านพิธีการศุลกากร
(5) งบประมาณที่ใช้ในการผลิตภาพยนตร์ตามที่ตกลงจำนวน 150,643,710 บาท
(6) บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ฉบับปกติแสดงยอดขายเฉพาะค่าโสหุ้ย และค่าธรรมเนียม โดยนำค่าอำนวยการผลิตและภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องมายื่นแบบฯ เพิ่มเติม
2. สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้หารือสำนักงานสรรพากรภาค ว่า บริษัทฯ เป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.120/2545ฯ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 กรณีเงินที่บริษัทฯ ได้รับล่วงหน้าก่อนการผลิตและบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0 และขอเครดิตภาษีซื้อนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากถือเป็นการให้บริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเพื่อผลิตภาพยนตร์ตามที่ต้องการ ตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 นอกจากนี้ กรณีเงินที่บริษัทฯ ได้รับเป็นค่าโสหุ้ยและค่าธรรมเนียมเท่ากันทุกเดือน ซึ่งบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทฯ มิใช่ผู้ผลิตเพื่อส่งออก แต่เป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11(3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.120/2545ฯ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
3. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาอำนวยการผลิตกับบริษัท U ประเทศฝรั่งเศส ในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยสัญญาดังกล่าวมีลักษณะของการให้บริการ คือ
(1) ดำเนินการเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมด เตรียมรายงานค่าใช้จ่ายประจำและรายงานค่าใช้จ่ายสุดท้ายสำหรับการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
(2) จัดหาสถานที่และประสานงานจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เช่น การจัดหายานพาหนะ การจัดให้มีสถานที่สำนักงาน อำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือสื่อสาร การจองโรงแรม จัดหาอาหารและการเช่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์
(3) ให้คำแนะนำช่วยเหลือเกี่ยวกับบุคลากร โดยเป็นผู้จัดหาคัดเลือกตัวแสดงและจัดการเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อผูกพันการจ้าง ระเบียบวินัย ค่าจ้าง และเงินเดือนให้เป็นไปตามรายละเอียดงานและความสัมพันธ์แรงงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรที่อยู่ในประเทศไทย
(4) ให้คำแนะนำช่วยเหลือในทุกเรื่องเกี่ยวกับบุคลากร การขออนุญาตของภาครัฐบาล การขอใบอนุญาตสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่สำหรับการผลิตและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย
(5) ช่วยเหลือบริษัท U ให้ดำเนินการและปฏิบัติการผลิตถ่ายทำฉากภาพยนตร์แบบวันต่อวัน โดยการกำกับดูแลของ D (กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ) ในทุกด้านภายใต้การควบคุมของบริษัท U
(6) ภายใต้สัญญาดังกล่าวบริษัท U มีความประสงค์จะให้บริษัทฯ เป็นผู้อำนวยการผลิตในประเทศไทย โดยเป็นผู้ควบคุมการผลิตทั้งหมด เพื่อให้การถ่ายทำฉากภาพยนตร์ในประเทศไทยดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งผลที่ได้จะเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่บริษัทฯ ต้องส่งให้แก่ บริษัท U ประเทศฝรั่งเศส การอำนวยการผลิตตามข้อเท็จจริง จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อปรากฏหลักฐานการชำระค่าบริการ บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 บริษัทฯ จึงต้องนำเงินได้ที่ได้รับล่วงหน้าก่อนการผลิตและเงินได้ที่รับเป็นค่าโสหุ้ย และค่าธรรมเนียมมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัท ก. เป็นผู้ให้บริการแก่บริษัท U โดยดำเนินการเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมด เตรียมรายงานค่าใช้จ่ายประจำและรายงานค่าใช้จ่ายสุดท้ายสำหรับการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย จัดหาสถานที่และประสานงานจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เช่น การจัดหายานพาหนะ การจัดให้มีสถานที่สำนักงาน อำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือสื่อสาร การจองโรงแรม จัดหาอาหารและการเช่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ ให้คำแนะนำช่วยเหลือเกี่ยวกับบุคลากร โดยเป็นผู้จัดหาคัดเลือกตัวแสดงและจัดการเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อผูกพันการจ้าง ระเบียบวินัย ค่าจ้าง และเงินเดือนให้เป็นไปตามรายละเอียดงานและความสัมพันธ์แรงงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรที่อยู่ในประเทศไทย และให้คำแนะนำช่วยเหลือในทุกเรื่องเกี่ยวกับบุคลากร การขออนุญาตของภาครัฐบาล การขอใบอนุญาตสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่สำหรับการผลิตและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันกับการผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือบริษัท U ให้ดำเนินการและปฏิบัติการผลิตถ่ายทำฉากภาพยนตร์แบบวันต่อวันโดยการกำกับดูแลของ D (กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ) ในทุกด้านภายใต้การควบคุมของบริษัท U เพื่อให้การถ่ายทำฉากภาพยนตร์ในประเทศไทยจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แม้ต่อมา บริษัทฯ ต้องส่งฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่บริษัท U ประเทศฝรั่งเศส ก็ไม่อาจถือว่าเข้าลักษณะการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ตามข้อ 2(1) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 เนื่องจากสาระสำคัญแห่งการให้บริการตามข้อเท็จจริง เป็นกรณีการประสานงาน อำนวยการ และจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งผลของการให้บริการดังกล่าวได้มีการใช้ในประเทศไทยเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 11(3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.120/2545ฯ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
เลขตู้: 68/33580

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020