เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./7749 |
วันที่ | : 15 กันยายน 2548 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/3 มาตรา 86/4(3) มาตรา 82/5(2) และมาตรา 90(12) |
ข้อหารือ | : บริษัท ซ. เดิมชื่อบริษัท ก. ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อต่อกระทรวงพาณิชย์ และยื่นแบบ ภ.พ.09 ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่โดยเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ซ. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 บริษัทฯ แจ้งให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าว่าเอกสารเกี่ยวกับใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีต่าง ๆ ให้ใช้ชื่อบริษัทใหม่ คือ บริษัท ซ. ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป ดังนั้น บริษัท ซ. จึงขอผ่อนผันระยะเวลาการใช้ชื่อเดิมในใบกำกับภาษีระหว่างวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2548 เพื่อใช้ในใบกำกับภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | : กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2548 ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อจากบริษัทเดิมเป็นบริษัท ซ. ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้ 1. ใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ได้รับในวันที่ 13 มิถุนายน 2548 เป็นใบกำกับภาษีที่ได้รับก่อนการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อต่อสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามชื่อที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เป็นใบกำกับภาษีต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ 2. ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ได้รับระหว่างวันที่ 14 และวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันที่หลังจากบริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อแล้ว เมื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ก็ต้องระบุชื่อของบริษัทฯ ตามที่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรเนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องรับผิดตามมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากบริษัทฯ ร้องขอให้ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยให้ระบุชื่อบริษัทฯ ให้ถูกต้อง บริษัทฯ จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ |
เลขตู้ | : 68/33566 |