เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706/พ./7829
วันที่: 19 กันยายน 2548
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการจัดการบริษัท
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ฐ), มาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการให้บริการรับขุดเจาะและให้เช่าอุปกรณ์การขุดเจาะหาแร่และอื่น ๆ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการชาวต่างประเทศ จำนวน 1,400,000 บาท ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการของบริษัทฯ ซึ่งแนะนำลูกค้าและดำเนินการใด ๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ให้กับบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 20 ของรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยกรรมการฯ ดังกล่าวมิได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ไม่ได้อยู่ในฐานะลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทฯ ไม่ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอื่นใดเป็นประจำจากบริษัทฯ และไม่ได้ทำงานในประเทศไทยเป็นประจำแต่อาจจะเดินทางไปที่ไซต์งานบ้างเป็นครั้งคราว กรรมการฯ ดังกล่าวจะเป็นผู้ควบคุมดูแลจัดการและบริหารกิจการของบริษัทฯ รวมทั้งจัดหาและประสานงานกับลูกค้าและผู้รับเหมาช่วงแต่เพียงผู้เดียว มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการและบริหารกิจการตามข้อบังคับของบริษัทฯ ภายใต้ความครอบงำของผู้ถือหุ้น บริษัทฯ หารือว่าการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการชาวต่างประเทศซึ่งไม่ได้ทำงานในประเทศไทยเป็นประจำ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ และหากการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 1,400,000 บาท จะถือว่ามีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. กรณีบริษัทฯ ว่าจ้างกรรมการชาวต่างประเทศให้บริหารจัดการกิจการของบริษัทฯ โดยกรรมการฯ มิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน แต่ได้รับค่าตอบแทนตามอัตราร้อยละของจำนวนรายได้ของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการรับทำงานให้ ค่าตอบแทนที่กรรมการฯ ได้รับจากบริษัทฯ นั้นจึงเป็นค่าตอบแทนที่เกิดจากสัญญาการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งการให้บริการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร กรรมการฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. หากมีข้อเท็จจริงว่า กรรมการฯ เป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว กรรมการฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อาจขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวได้ ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากกรรมการฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการให้แก่กรรมการฯ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของค่าบริการ ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33573

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020