เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7571
วันที่: 8 กันยายน 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบธุรกิจบัตรเงินสด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 78/1(1) และข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ: บริษัท อ. จะออกบัตรที่ใช้แทนเงินสดออกจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้บัตรดังกล่าวชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการรายอื่นๆ เช่น ชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ ชำระค่าใช้บริการ Internet เป็นต้น ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการธุรกิจดังกล่าวได้จากกระทรวงการคลัง ในการจำหน่ายบัตรเงินสดดังกล่าว บริษัทฯ จะจำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ ซึ่งตัวแทนจำหน่ายเหล่านั้นจะนำบัตรไปจัดจำหน่ายต่อ ๆ ไป จนถึงมือลูกค้าผู้ใช้บัตร โดยบริษัทฯ จะให้ค่าตอบแทนการจำหน่ายบัตรแก่ตัวแทนจำหน่ายที่คำนวณจากมูลค่าหน้าบัตรในอัตราตามที่จะตกลงกัน เมื่อลูกค้านำบัตรมาใช้ซื้อหรือชำระค่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ได้มีข้อตกลงการรับบัตรของบริษัทฯ ล่วงหน้า บริษัทฯ ก็จะจ่ายคืนค่าสินค้าหรือค่าบริการที่ลูกค้าใช้บัตรชำระให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านั้นตามมูลค่าหน้าบัตร โดยบริษัทฯ จะเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บัตรจากผู้ประกอบการนั้น ๆ ตามอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านั้นจะเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี (ถ้ามี) ของค่าสินค้าหรือบริการโดยตรงให้แก่ลูกค้าต่อไป บริษัทฯ จึงขอหารือภาระภาษีในการประกอบธุรกิจบัตรเงินสดดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
1.1 ในการขายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่าย บริษัทฯ จะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งบริษัทฯ มีความเห็นว่า บริษัทฯ เป็นเพียงผู้ขายบัตรเงินสดให้แก่ลูกค้าเพื่อที่ลูกค้าจะได้นำบัตรนั้นไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนการชำระด้วยเงินสด โดยที่สินค้าหรือบริการที่จะได้มีการชำระราคานั้น เป็นของผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีข้อตกลงร่วมกับบริษัทฯ มิใช่สินค้าหรือบริการของบริษัทฯ เพราะบริษัทฯ ไม่สามารถประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ บริษัทฯ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่เรียกเก็บจากลูกค้า (ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายเรียกเก็บ) และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากบรรดาผู้ประกอบการที่ยอมรับการชำระราคาด้วยบัตรเงินสดที่ออกโดยบริษัทฯ อีกทั้งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547 ในข้อ 4.4 กำหนดให้บริษัทฯ ต้องนำเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากลูกค้าซึ่งก็คือค่าบัตรเงินสดที่จำหน่ายได้ฝากเป็นเงินสดไว้ที่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่ายอดคงค้างของเงินที่ได้รับล่วงหน้าจากลูกค้า โดยจะต้องเปิดเป็นบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากอื่น ๆ ของบริษัทฯ ปราศจากภาระผูกพันและใช้เฉพาะสำหรับการชำระบัญชีอันเนื่องมาจากการให้บริการบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น รายได้การขายบัตรเงินสดจึงมิใช่รายได้จากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
1.2 บริษัทฯ จะต้องนำค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดของบริษัทฯ ไปใช้ชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจะต้องบันทึกรายได้ค่าธรรมเนียมเมื่อบัตรนั้นได้ถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการใช่หรือไม่
1.3 ในส่วนของค่าดำเนินการที่บริษัทฯ ต้องชำระให้แก่ตัวแทนจำหน่ายที่ซื้อบัตรเงินสดไปจำหน่ายต่อ บริษัทฯ จะต้องนำค่าดำเนินการดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อมีการขายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายใช่หรือไม่
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
2.1 ในการจัดจำหน่ายบัตรเงินสด บริษัทฯ จะขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวเต็มตามมูลค่าบัตรหน้าบัตร เช่น บัตรราคา 300 บาท ก็จะขายในราคา 300 บาท และตัวแทนจำหน่ายก็จะขายให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยๆ ในราคาที่เต็มมูลค่าเช่นเดียวกันจนกระทั่งถึงมือลูกค้าก็จะซื้อในราคา 300 บาท ตามมูลค่าที่ระบุไว้ที่หน้าบัตร
รายได้จากการจำหน่ายบัตรเงินสดดังกล่าวข้างต้นไม่ว่าจะเป็นการขายบัตรเงินสดในช่วงที่บริษัทฯ ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรวมถึงในช่วงที่ตัวแทนจำหน่ายได้จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ รายอื่นๆ อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่
2.2. ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่
2.3 ค่าดำเนินการขายบัตรที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือไม่
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.1 การจำหน่ายบัตรเงินสดตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ หรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้ซื้อบัตรและนำไปจำหน่ายต่อให้ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยหรือลูกค้า จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการจำหน่ายบัตรเงินสดหรือไม่ หากต้องเรียกเก็บจะต้องเรียกเก็บจากมูลค่าตามราคาหน้าบัตรหรือมูลค่าที่ได้ขายให้โดยหักส่วนลดแล้ว และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อใด
3.2 ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้า และค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ จัดเป็นการให้บริการ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคา ใช่หรือไม่
3.3 บัตรเงินสดจัดเป็นสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย: 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีบริษัทฯ ได้จำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายตามข้อเท็จจริง มิได้เป็นการจำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ลูกค้าเพื่อนำมาใช้ซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัทฯ เองแต่อย่างใด ซึ่งลูกค้าผู้ซื้อบัตรจะนำไปใช้ชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ตามที่มีข้อตกลงร่วมกันกับทางบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะได้รับค่าธรรมเนียมการใช้บัตรจากลูกค้าและผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการ เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายบัตรดังกล่าว แม้จะเป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับมาก็ตาม แต่ก็เป็นเงินที่มีภาระผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องเก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าผู้ซื้อบัตรที่จะนำบัตรนั้นไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการในอนาคต ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการอื่นใดได้ นอกจากนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรไปใช้เท่านั้น
ดังนั้น รายได้จากจำหน่ายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายจึงมิใช่รายได้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการที่จะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด แต่บริษัทฯ จะต้องนำค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากผู้ประกอบการเมื่อบัตรเงินสดนั้นได้ถูกนำไปใช้ชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการและต้องนำค่าดำเนินการที่จ่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายบัตรเมื่อมีการขายบัตรเงินสดให้แก่ตัวแทนจำหน่ายมาถือเป็นรายได้และรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วแต่กรณี
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
2.1 ลูกค้าผู้ซื้อบัตรเงินสดสามารถนำบัตรนั้นไปใช้ชำระราคาสินค้าและบริการต่างๆ แทนที่จะชำระเป็นเงินสดได้นั้น การขายบัตรเงินสดดังกล่าวจึงเป็นการขายสิทธิการซื้อสินค้าหรือบริการตามมูลค่าที่กำหนดในบัตร จึงจัดเป็นการขายทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายบัตรเงินสดในช่วงที่บริษัทฯ ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรวมถึงในช่วงที่ตัวแทนจำหน่ายได้จำหน่ายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ รายอื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่ตัวแทนจำหน่ายและตัวแทนจำหน่ายย่อยๆ ได้จำหน่ายบัตรเงินสดในทอดต่างๆ โดยได้รับค่าดำเนินการจากผู้ขายบัตรให้นั้น เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในการจัดจำหน่ายบัตรให้แก่บริษัทฯ หรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้ขายบัตรให้แก่ตน ค่าดำเนินการที่ได้รับเข้าลักษณะเป็นค่าบริการที่อยู่ในบังคับที่ผู้จ่าย ซึ่งผู้ขายบัตรที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
2.2 ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้า และค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ
เข้าลักษณะเป็นเงินได้ค่าบริการ หากผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินได้
มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่
ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.1 การจำหน่ายบัตรเงินสดตามข้อเท็จจริง เป็นการจำหน่ายสิ่งที่จะนำไปแทนตัวเงินที่จะนำไปซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการต่างๆ เปรียบเสมือนสิ่งที่ใช้แทนเงินสด

เท่านั้น เมื่อมีการใช้บัตรเงินสดชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือบริการซึ่งเป็น
ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือบริการมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อ ดังนั้น การจำหน่ายบัตรเงินสดในขั้นตอนการขายต่าง ๆ จึงมิใช่เป็นการขายสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
ค่าดำเนินการที่ตัวแทนจำหน่ายได้รับถือเป็นค่าบริการ ตัวแทนจำหน่ายมี
หน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3.2 ค่าธรรมเนียมร้านค้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ลูกค้านำบัตรเงินสดไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ จัดเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
3.3 บัตรเงินสดมิใช่สินค้าตามคำนิยามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77/1(9) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
เลขตู้: 68/33576

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020