เลขที่หนังสือ | : กค 0706/7149 |
วันที่ | : 25 สิงหาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย การจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินบาท |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 54 |
ข้อหารือ | : ธนาคารฯ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น มีความประสงค์จะทำการออกและเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทให้แก่ผู้ลงทุนในประเทศไทย (หลักทรัพย์) ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้รัฐบาลหรือสถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ.25/2547 เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 โดยในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าว ธนาคารจะแต่งตั้งให้บริษัท ศ. ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์และตัวแทนชำระเงินสำหรับการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หลักทรัพย์ และสำหรับวิธีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หลักทรัพย์นั้น ธนาคารจะทำการโอนเงินจากสำนักงานใหญ่ของธนาคารที่ประเทศญี่ปุ่น หรือโอนเงินจากบัญชีของธนาคารที่เปิดไว้ในประเทศไทย มาเข้าบัญชีของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่ธนาคารได้เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หลักทรัพย์ โดยบัญชีเพื่อการชำระหนี้ดังกล่าว ธนาคารได้มอบอำนาจให้บริษัท ศ. เป็นผู้มีอำนาจในการเบิกถอนเงินในบัญชีเพื่อใช้ในการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์ของธนาคาร ขอหารือประเด็นปัญหาของธนาคาร ดังนี้ 1. บริษัท ศ. ซึ่งเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์และตัวแทนชำระเงินสำหรับการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์ของธนาคารในประเทศไทยจะต้องมีหน้าที่ในการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการชำระดอกเบี้ยบนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์เพื่อนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวให้แก่ทางกรมสรรพากรนั้น บริษัท ศ. จะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของธนาคารในฐานะที่เป็นผู้ชำระดอกเบี้ยหลักทรัพย์ หรือจะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัท ศ. ซึ่งเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์ในนามของธนาคารและเป็นผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในการนำส่งเงินดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากร 2. ในกรณีที่กรมสรรพากรเห็นว่า ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของธนาคาร ธนาคารน่าจะสามารถใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของสำนักงานตัวแทนซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยของธนาคารเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ได้ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีธนาคารซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นมีความประสงค์จะทำการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาทให้แก่ผู้ลงทุนในประเทศไทย เมื่อธนาคารจ่ายเงินค่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือหุ้น ธนาคารมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4(2) และ (3) ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ดังนั้น หากธนาคารได้มีการทำสัญญาแต่งตั้งบริษัท ศ. ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์และตัวแทนสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าว ให้บริษัท ศ. เป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยหุ้นกู้แทน โดยบริษัท ศ. ซึ่งเป็นตัวแทนของธนาคารจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในนามของธนาคาร และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของธนาคารด้วย ทั้งนี้บริษัท ศ. จะต้องใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของสำนักงานผู้แทนของธนาคารในประเทศไทยเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 2. กรณีธนาคารมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำเงินส่ง หรือได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ธนาคารต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 68/33533 |