เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/794
วันที่: 9 กันยายน 2548
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ได้ยื่นคำขออนุมัติการเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อส่งออก และให้บริการรับฝากแช่สินค้าในห้องเย็น บริษัทฯ มีรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ในปี 2546 บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารโรงผลิตแห่งใหม่ที่สำนักงานสาขาแห่งที่ 2 โดยสถานที่ดังกล่าวมีพื้นที่ 6,320 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโรงงานผลิตเนื้อปลาบีบแช่แข็ง ส่วนหนึ่งใช้เป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง และอีกส่วนหนึ่งใช้สำหรับให้บริการรับฝากแช่สินค้า ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ขายหัวปลา เศษซาก และก้างปลาให้บุคคลภายนอกเพื่อใช้ในการผลิตปลาป่นซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
2. บริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารทั้งจำนวนมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมิได้ทำการเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่การใช้อาคาร เนื่องจากเข้าใจว่ามีรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อ ต่อมา บริษัทฯ ได้รับแจ้งว่าไม่ถูกต้อง กรณีภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อการอื่น ตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงขอให้กรมฯ พิจารณาอนุมัติดังต่อไปนี้
2.1 ขยายเวลาการยื่นแบบแจ้งรายการเกี่ยวกับการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร
2.2 เฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามยอดรายได้ของปี 2546 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการก่อสร้างอาคาร
แนววินิจฉัย: 1.บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารโรงผลิตใหม่ที่สถานประกอบการสาขาแห่งที่ 2 โดยไม่สามารถแยกพื้นที่การใช้อาคารในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และบริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมาขอคืนภาษีซื้อทั้งจำนวน โดยมิได้เฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่การใช้อาคาร เนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจว่าหากบริษัทฯ มีรายได้จากกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ทั้งหมดแล้ว บริษัทฯ ไม่ต้องทำการเฉลี่ยภาษีซื้อ จึงเป็นกรณีบริษัทฯ มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถประมาณการการใช้พื้นที่อาคารได้ว่าส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและส่วนใดใช้สำหรับกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเห็นควรให้บริษัทฯ เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนรายได้ของปีที่ผ่านมาของกิจการ และให้นำภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยได้ตามส่วนของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
2.กรณีบริษัทฯ ขอเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารโดยขอเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการตามข้อ 2 ประกอบกับข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2535 ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นว่าอนุมัติตามที่กล่าวใน 1. แล้ว อันเป็นการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ซึ่งไม่ต้องยื่นแบบแจ้งรายการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร (ภ.พ.05.1) ตามข้อ 5 ของประกาศฉบับดังกล่าวที่กำหนดให้ต้องยื่นแบบแจ้งรายการประมาณการใช้พื้นที่อาคาร (ภ.พ.05.1) แต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาในประเด็นการขออนุมัติขยายเวลาการยื่นแบบแจ้งรายการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร (ภ.พ.05.1)
เลขตู้: 68/33564

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020