เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/7762
วันที่: 15 กันยายน 2548
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยของผู้เช่า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ: หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ราย บริษัท พ. จำกัด โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. บริษัท พ. จำกัด ประกอบกิจการลงทุนถือหุ้นในกิจการอื่นและให้บริการเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง โดยทรัพย์สินที่บริษัทฯ ให้เช่า ได้แก่ รถยนต์ทุกประเภทและเครื่องใช้สำนักงานทั่วไป ตลอดจนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการดำเนินงาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเช่ารถยนต์มากที่สุด ซึ่งในการให้เช่าทรัพย์สินทุกรายการจะมีการทำสัญญาเช่าต่อกัน
2. ในการเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั้น สัญญาเช่าจะมีข้อกำหนดให้ผู้เช่าเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียว คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้ การเก็บ การบำรุงรักษา การซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง การขนส่งหรือขนย้าย การโอนกรรมสิทธิ์ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าภาษีอากร ค่าประกันภัย ค่าเสียหายใดๆ อันเกิดจากทรัพย์ที่เช่าไม่ว่าต่อผู้ให้เช่าหรือบุคคลอื่น ซึ่งในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะระบุชื่อผู้เช่ารถยนต์เป็นผู้เอาประกัน และระบุชื่อผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์
3. สำนักงานสรรพากรพื้นที่เห็นว่า การที่สัญญาเช่าระบุให้ผู้เช่ารถยนต์เป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เนื่องจากหากมีกรณีสูญหายหรือถูกอัคคีภัย บริษัทฯ จะรับเงินชดเชยเฉพาะจำนวนที่ได้ระบุมูลค่าสูญหายไว้ในสัญญาเช่าเท่านั้น หากเงินชดเชยที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยเกินกว่ามูลค่าสูญหายที่ได้ระบุไว้ บริษัทฯ จะคืนเงินชดเชยที่ได้รับ คืนให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายเบี้ยประกันภัยค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้เช่าได้จ่ายไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินของบริษัทฯ ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะต้องนำค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าวมาถือเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทฯ
4. กรณีสัญญาเช่ารถยนต์ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์จากผู้เช่า เงินค่าเบี้ยประกันภัยเข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องนำค่าเบี้ยประกันภัยไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย: กรณีสัญญาเช่าทรัพย์สินที่กำหนดให้ผู้เช่าทรัพย์สินเป็นผู้เอาประกันภัย โดยมีหน้าที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามมาตรา 861 และมาตรา 862 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ผู้ให้เช่าทรัพย์สินจะไม่ได้เรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เช่า แต่ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย จึงเข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์ที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 68/33569

 


 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020