เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 133/2549

เรื่อง      การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร  เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

-------------------------------

  

 

                                   เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบและแนะนำเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามข้อ 3/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                         ข้อ 1 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หากค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนในแต่ละครั้งมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งพันบาท ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่หากการจ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนครั้งต่อไปซึ่งเมื่อนำไปรวมกับค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนครั้งที่ผ่านมาที่มีการจ่ายไปแล้วมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทน โดยจะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนที่จ่ายในครั้งก่อน ๆ มารวมคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย

 

                          ข้อ  2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนตามข้อ 1 ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน โดยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

                                  กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงินและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องระบุ วัน เดือน หรือปีภาษีที่จ่ายเงินได้ เป็นวันเดียวกันกับวันที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

                                  กรณีมีการจ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนตามวรรคหนึ่ง ในแต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายคราว ทำให้ผู้จ่ายเงินไม่สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการลดภาระการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยสามารถออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หนึ่งครั้งต่อเดือน แต่ผู้จ่ายเงินยังมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

 

                            ข้อ 3 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนตามข้อ 1 ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเป็นการจ่ายผ่านระบบการหักเงินจากบัญชีธนาคารของผู้จ่ายเงิน และผู้จ่ายเงินมีความประสงค์แต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน พร้อมทั้งยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตัวแทนจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของผู้จ่ายเงิน และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในนามของผู้จ่ายเงิน

                                     บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง สามารถเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการได้ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในฐานะเป็นตัวแทนต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในนามของผู้จ่ายเงิน โดยให้ดำเนินการตามข้อ 4

 

                              ข้อ 4 กรณีบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามข้อ 3 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นคู่สัญญาเดิมโดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทน โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้ว ถือว่า หนังสือแจ้งดังกล่าวเป็นข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวแทนแล้ว

                                    กรณีบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามข้อ 3 ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผู้จ่ายเงินไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทนในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นตัวแทนไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่จ่ายเงิน แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และเมื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะต้องระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทน โดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0  เป็นจำนวน ..... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะต้องจัดให้มีการ SCAN หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

                                  รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามวรรคสอง สามารถจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ แต่จะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                                  (1) คำว่า “รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน ........ พ.ศ. ....” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                                  (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”

                                  (3) ประเภทเงินได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าหรือตัวแทน (Commission)

                                  (4) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นตัวการหลายตัวการ จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หักไว้

                                  (5) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

 

                          ข้อ 5  กรณีบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามข้อ 3 ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายว่า บริษัทหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 4 วรรคสามด้วย ซึ่งเอกสารรายละเอียดดังกล่าวถือเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 โดยบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเขียนข้อความว่า “ใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53” ไว้ในเอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                                บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการ สามารถใช้เอกสารรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามข้อ 4 วรรคสาม เป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531

 

                          ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามข้อ 3 ในฐานะเป็นตัวแทนเพื่อดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินตัวการหลายตัวการสามารถใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้

 

                           ข้อ 7 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือหนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

 

  สั่ง ณ วันที่  3  มีนาคม  พ.ศ.  2549

 

 

                                                                       ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์

                                                                     (นายศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์)

                                                                       อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022