เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1848
วันที่: 6 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าเครื่องจักรในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2 มาตรา 82/5(3) มาตรา 82/13 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 300)
ข้อหารือ:           บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตหัวจับเครื่องมือ (Tool) สำหรับเครื่องมือกลและหัวจับยึดเครื่องมือ (Collets) ให้แก่ N คอร์ปอร์เรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันที่ประเทศญี่ปุ่น
          1. บริษัทฯ ในฐานะผู้ให้เช่า สั่งซื้อเครื่องจักรจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นและให้ผู้ขายจัดส่งเครื่องจักรไปยังบริษัทในเครือเดียวกันที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้เช่า สัญญาเช่าจัดทำที่ประเทศญี่ปุ่น การประกอบกิจการดังกล่าวถือว่า เป็นการให้บริการในต่างประเทศ ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
          2. หากการประกอบกิจการดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะต้องนำค่าเช่าเครื่องจักรมารวมคำนวณยื่นแบบ ภพ.30 ด้วยหรือไม่ และภาษีซื้อสำหรับการซื้อเครื่องจักรดังกล่าวบริษัทฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามยอดรายได้ที่เกิดขึ้น หรือไม่
          3. กรณีบริษัทฯ ได้รับชำระเงินค่าเช่าเครื่องจักร บริษัทในเครือเดียวกันที่ประเทศญี่ปุ่นจะต้องหักภาษีณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละเท่าไร ภาษีที่ถูกหักไว้บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีที่ต้องเสียตามแบบ ภ.ง.ด.50 โดยนำมาใช้ได้ไม่เกินภาษีที่ต้องเสียตามแบบ ภ.ง.ด.50 ใช่หรือไม่ และหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ฉบับภาษาญี่ปุ่น บริษัทฯ จะส่งให้สำนักงานในประเทศไทยแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเก็บไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หรือไม่ และต้องให้หน่วยงานใดลงนามรับรองเอกสารที่แปลด้วยหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:            1. กรณีตาม 1. และ 2. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องจักรโดยสั่งซื้อเครื่องจักรในประเทศญี่ปุ่นและให้ผู้ขายจัดส่งเครื่องจักรไปยังบริษัทในเครือเดียวกัน (ผู้เช่า) ที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรงและสัญญาเช่าก็จัดทำที่ประเทศญี่ปุ่น กรณีถือเป็นการให้บริการนอกราชอาณาจักร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องนำรายรับดังกล่าวมารวมยื่นในแบบ ภ.พ. 30 และหากบริษัทฯ มีภาษีซื้อจากการประกอบกิจการให้เช่าเครื่องจักร บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535
           2. บริษัทฯ มีรายได้จากให้บริการเช่าทรัพย์สินในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค่าเช่าที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเสียภาษีตามอัตราที่กฎหมายของประเทศญี่ปุ่นกำหนดไว้ บริษัทฯ มีสิทธิเลือกเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่เสียไปในประเทศญี่ปุ่นโดยแยกพิจารณาตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งสำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้
              (1) เลือกนำมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
              (2) เลือกนำภาษีที่เสียไปในประเทศญี่ปุ่นมาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามบทบัญญัติในอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 หรือ
              (3) เลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 โดยปฏิบัติตามข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ส่วนเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ในประเทศญี่ปุ่นจะต้องให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีในประเทศญี่ปุ่นรับรอง โดยต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษและต้องใช้เลขไทยหรืออารบิค รวมทั้งต้องมีรายการอย่างน้อย คือ ชื่อผู้มีเงินได้ รายการเงินได้ จำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ตามข้อ 11 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
เลขตู้: 69/33945

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020