เลขที่หนังสือ | : กค 0706/1806 |
วันที่ | : 3 มีนาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าเครื่องจักรกล |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 79 วรรคสอง มาตรา 81(1)(ท) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : การนำเครื่องจักรกลของเงินทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกลของกรม ท. ที่เหลืออยู่และเกินความต้องการของกรม ท. ในปัจจุบันให้หน่วยงานอื่นเช่าใช้ โดยการคิดอัตราค่าเช่านั้น จะคำนวณรวมภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราปัจจุบันสำหรับหน่วยงานอื่น และจะคำนวณรวมภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกร้อยละ15 ของค่าเช่า สำหรับหน่วยงานที่ไม่ใช่ส่วนราชการเป็นผู้เช่า การดำเนินการดังกล่าวจะขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. สำนักงานเงินทุนหมุนเวียนค่าเครื่องจักรกลของกรม ท. เป็นหน่วยงานภายในกรม ท. จึงมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีเงินได้ค่าเช่าเครื่องจักรกล ก็ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 2. สำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ มีฐานะเป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1(1)(4) และ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ดำเนินการให้เช่าเครื่องจักรกลของกรม ท. เข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่เงินได้จากการให้เช่าเครื่องจักรกลได้นำเข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนฯ ของกรม ท. เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนฯ ถือว่า มิได้ส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ท) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากมูลค่าของฐานภาษีจากการให้เช่าเครื่องจักรกลมีจำนวนเกินกว่า 1,800,000 บาท ต่อปี ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร 3. สำนักงานเงินกองทุนหมุนเวียนฯ มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 จากผู้รับบริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78/1 (1) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ นำภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมเป็นอัตราค่าเช่าเครื่องจักรกลของกรม ท. ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 69/33932 |