เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1925
วันที่: 7 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณค่าหรือราคาของเงินลงทุนในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (3)(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย มีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่28 กุมภาพันธ์ ของทุกปี บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับ บริษัทฯ ได้นำเงินไปลงทุนในกิจการร่วมค้าในประเทศจีน 2 แห่ง คือ โดยถือหุ้นร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนของแต่ละบริษัท บริษัทฯ ได้บันทึกเงินลงทุนเป็นเงินบาท โดยคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนจริง ณ วันจ่ายเงินลงทุนและในปีต่อ ๆ มา บริษัทฯ ได้ปรับปรุงเงินทุนด้วย ผลกำไร ขาดทุน จากการแปลงค่างบการเงินของกิจการร่วมค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศคำนวณในส่วนของบริษัท ซึ่งคำนวณได้จากการนำสัดส่วนการถือหุ้นไปคูณกำไรจากการแปลงค่างบการเงินจากเงินหยวนเป็นเงินบาท เพื่อให้การบันทึกบัญชีเงินลงทุนเป็นไปตามเกณฑ์ส่วนได้เสีย ซึ่งในการแปลงค่างบการเงินจากการลงทุนในกิจการร่วมค้า H และ S ทำให้เกิดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 22,468,926 บาท บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 30 เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึง
           1. การเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น คือ ผลการประกอบการของกิจการร่วมค้า
           2. การใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันในการแปลงค่ารายการ แต่ละรายการในงบการเงินของกิจการร่วมค้าตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรฐานบัญชี
             1. ทั้งนี้ ผลกำไรและขาดทุนที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ลงทุนกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีเช่นเดียวกับกรณีมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเมื่อปรับปรุงเงินลงทุนที่คำนวณตามวิธีการส่วนได้เสียแล้ว ก็นำไปแสดงไว้ในส่วนของผู้ถือหุ้นตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 30
             2. ในปี 2541 และปี 2542 บริษัทฯ ได้ตั้งค่าเผื่อขาดทุนจากการลดลงของเงินลงทุนใน S จำนวน 28,164,732 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้นำไปหักออกจากเงินลงทุนทั้งจำนวน และหักออกจากผลกำไรการแปลงค่างบการเงิน (ในส่วนของผู้ถือหุ้น) ในส่วน S จำนวน 19,062,492 บาท และนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนจำนวน 9,012,240 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้บวกกลับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี ทำให้ผลกำไรจากการแปลงค่างบการเงินที่แสดงไว้ในส่วนผู้ถือหุ้นเหลือเพียงส่วนของ H จำนวน 3,406,434 บาท บริษัทฯ เห็นว่า
               2.1 บริษัทฯ ได้บันทึกเงินลงทุนเป็นเงินบาทตั้งแต่ต้น เงินลงทุนนี้จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะเกิดผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ลงทุนกับผลต่าง ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
               2.2 กรณีเป็นเรื่องการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยยังไม่มีการขายเงินลงทุนดังกล่าวออกไป จึงอยู่ภายในบังคับตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ
แนววินิจฉัย:           1. บริษัทฯ ได้บันทึกต้นทุนของเงินลงทุนดังกล่าวเป็นเงินตราไทย ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่มีการจ่ายเงินชำระค่าหุ้น ตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีภาระผูกพันเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่ต้องปรับปรุงมูลค่าของเงินลงทุนหรือทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับข้อ 2.2 กรณีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยยังไม่มีการขายเงินลงทุนดังกล่าวออกไป ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรณีการแปลงค่างบการเงินของกิจการร่วมค้า H และ S เป็นการดำเนินการเพียงเพื่อให้ทราบถึงมูลค่าแท้จริงของเงินลงทุน และแสดงถึงฐานะทางการเงินของกิจการร่วมค้าของทั้งสองกิจการฯ เท่านั้น ดังนั้น ผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการแปลงค่างบการเงินดังกล่าวจึงมิใช่ผลกำไรหรือขาดทุน ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
เลขตู้: 69/33953

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020