เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1924
วันที่: 7 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          บริษัทฯ ได้นำรายจ่าย ค่าศึกษาอบรม ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พัก ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ของนาย พ. ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังจากนาย พ. ลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2545 และ 2546 จำนวน 434,691 บาท และจำนวน 1,193,304.66 บาท ตามลำดับ นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้นำรายจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยและค่าซ่อมรถยนต์ ของนางสาว ก. กรรมการของบริษัทฯ ซึ่งยินยอมให้บริษัทฯ นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ในกิจการโดยมิได้ทำสัญญาเช่า ที่ประชุมใหญ่สามัญของบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2544 ให้บริษัทฯ จ่ายค่าซ่อม ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าน้ำมัน และค่าภาษีรถยนต์ โดยบริษัทฯ ได้นำค่าเบี้ยประกันภัยไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2545 และ 2546 จำนวน 13,440.84 บาท และ จำนวน 57,596.46 บาท รวมทั้งนำค่าซ่อมรถยนต์ จำนวน 5,605.73 บาท ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2546 ด้วย
แนววินิจฉัย:           1. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าศึกษาอบรม ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พักให้แก่นาย พ. ในขณะที่นาย พ. มิได้เป็นกรรมการหรือพนักงานของบริษัทฯ ถือเป็นการให้เนื่องจากผู้รับไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันในทางธุรกิจของบริษัทฯโดยตรง ดังนั้น รายจ่ายดังกล่าวที่บริษัทฯ จ่ายไปในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2545 และปี 2546 เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา และมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรณีบริษัทฯ นำรถยนต์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาว ก. กรรมการของบริษัทฯ มาใช้ในกิจการโดยมิได้ทำสัญญาเช่า แต่บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยและค่าซ่อมรถยนต์ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือตามข้อตกลง หรือระเบียบของบริษัทฯ หากบริษัทฯ สามารถนำพิสูจน์ให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อประโยชน์ในการหารายได้หรือใช้ในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรง บริษัทฯ จึงมีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/33952

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020