เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2260
วันที่: 16 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเครดิตภาษีเงินได้ของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
ข้อกฎหมาย: ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109)ฯ พ.ศ. 2545
ข้อหารือ:          บริษัท อ. จำกัด ประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ให้บริการด้านการบริหาร และสนับสนุนอื่น ๆ ให้แก่วิสาหกิจในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีรายได้ทั้งจากกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคและกิจการอื่น บริษัทฯ เข้าใจว่า ภายใต้นิติบุคคลเดียวกันบริษัทฯ สามารถนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่เหลืออยู่ไปใช้เครดิตภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิในกิจการอื่นของบริษัทได้ ตามหลักเกณฑ์ในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 109) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ ของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ลงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2545 จึงขอทราบว่า บริษัทฯ เข้าใจถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:           ตามข้อ 5 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่109)ฯ ลงวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้บริษัทซึ่งประกอบกิจการทั้งกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคและกิจการอื่นแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ โดยให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดียวกัน กรณีที่บริษัท อ. จำกัด มีการประกอบกิจการทั้งกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคและกิจการอื่น ซึ่งได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เมื่อถึงกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ได้คำนวณกำไรสุทธิของกิจการทั้งสองประเภทดังกล่าว แยกต่างหากจากกัน ต่อมาได้แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละกิจการไว้แล้ว หากปรากฏว่า กิจการหนึ่งมีเครดิตภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่เสียไว้เกิน และมีสิทธิขอคืนแต่อีกกิจการหนึ่งมีภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของกิจการที่มีสิทธิขอคืน มาหักกลบกับภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มของอีกกิจการหนึ่งได้
เลขตู้: 69/33990

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020