เลขที่หนังสือ | : กค 0706/3379 |
วันที่ | : 16 มีนาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนตราสารหนี้ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(4)(ก) มาตรา 20(2) และมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : ธนาคารฯ หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการซื้อขายตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หุ้นกู้และพันธบัตรในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน กรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1. ธนาคารฯ ประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยในราคา 9 ล้านบาท โดยราคาหน้าตราสารทั้งสองชนิดระบุไว้ 10 ล้านบาท และไม่มีดอกเบี้ยบนหน้าตราสาร ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากส่วนต่างระหว่างราคาไถ่ถอน กับราคาจำหน่ายตราสารทั้ง 2 ชนิดไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ต่อมาธนาคารฯ ได้ขายตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทหรือธนาคารพาณิชย์ไปในราคาต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาที่ธนาคารฯ ประมูลซื้อมาได้ และบุคคลธรรมดา บริษัทหรือธนาคารพาณิชย์ที่ซื้อตราสาร ไปอาจถือไว้จนครบกำหนดแล้วนำไปไถ่ถอนจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือขายคืนให้แก่ธนาคารฯ แล้วธนาคารฯ นำตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรนั้นไปขายคืนให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้โดยคิดดอกเบี้ยบนราคาหน้าตราสารในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และเสนอขายครั้งแรกตามราคาหน้าตราสาร ต่อมาอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับสูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนด ไว้บนหน้าตราสาร ทำให้ราคาขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่ำกว่าราคาไถ่ถอน ดังนี้ 2.1 หากบริษัท ก. ขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ให้แก่ธนาคารฯ ตามราคาหน้าตราสาร 1,000 บาท ต่อมาธนาคารฯ นำตราสารดังกล่าวไปขายให้แก่บริษัท ข. ในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตราสาร และบริษัท ข. ถือตราสารไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน 2.2 หากบริษัท ก. ขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ให้แก่ธนาคารฯ ตามราคาหน้าตราสาร 1,000 บาท ต่อมาธนาคารฯ นำตราสารดังกล่าวไปขายให้แก่บุคคลธรรมดาในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตราสาร และบุคคลธรรมดาถือตราสารไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน 2.3 หากบริษัท ก. ขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ให้แก่บุคคลธรรมดาตามราคาหน้าตราสาร 1,000 บาท แล้วบุคคล-ธรรมดานำตราสารดังกล่าวไปขายให้ธนาคารฯ ในราคา 1,005 บาท ธนาคารฯ ขายต่อให้บริษัท ข. ในราคา 990 บาท แล้วบริษัท ข. ขายตราสารให้ธนาคารพาณิชย์อื่นในราคา 1,008 บาท ธนาคารพาณิชย์อื่นถือตราสารไว้จนครบกำหนดไถ่ถอนธนาคารฯ จึงขอหารือว่า กรณีการออกและขายตราสารทางการเงินตามข้อเท็จจริงธนาคารฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการโอนขายตราสารทอดใดบาง และในอัตราใด |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. ธนาคารฯ ซื้อตราสารชนิดไม่มีดอกเบี้ยบนหน้าตราสารจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วนำมาจำหน่ายต่อในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตราสารให้กับผู้ซื้อ ดังนี้ 1.1 ผู้ซื้อที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายได้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ในวันที่จำหน่ายตั๋วเงินครั้งแรกให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือธนาคารพาณิชย์อื่นนี้ยังถือไม่ได้ว่า มีการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ธนาคารฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด 1.2 ผู้ซื้อที่เป็นบุคคลธรรมดาโดยมีผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย ครั้งแรกซึ่งต่ำกว่าราคาไถ่ถอน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 2. ธนาคารฯ ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ชนิดมีดอกเบี้ยบนหน้าตราสารที่บริษัทเป็นผู้ออกแล้วนำมาจำหน่ายต่อให้กับผู้ซื้อ ดังนี้ 2.1 ธนาคารฯ ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้จากบริษัท ก. มาในราคาเท่ากับราคาบนหน้าตราสารแล้วนำไปขายต่อให้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล การซื้อตราสารมาเพื่อจำหน่ายในกรณีนี้ถือว่า ไม่มีผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด 2.2 ธนาคารฯ ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้จากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมาในราคาที่สูงกว่าราคาบนหน้าตราสาร ส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาบนหน้าตราสารในกรณีนี้เข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินส่วนต่างที่จ่ายให้แก่บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(2)(ค) และมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 69/33992 |