เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2083
วันที่: 10 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก) มาตรา 70 และอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-อเมริกา
ข้อหารือ:           บริษัท A จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศไทย และอยู่ในระหว่างเตรียมการเสนอขายหุ้นกู้ (Debenture) ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง ในการเสนอขายหุ้นกู้ บริษัท A จะแต่งตั้ง The Depository Trust Company ("DTC") ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของมลรัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากหุ้นกู้ (Depository) และตัวแทนหักบัญชี (Clearing Agency) ให้แก่บริษัท A โดย DTC จะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นกู้ในทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท A ในใบหุ้นกู้รวม (Global Certificate) และจัดทำทะเบียนโดยมีรายชื่อผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงรวมถึงจำนวนหุ้นกู้ที่ถือ การถือหุ้นกู้ของ DTC จึงเป็นการถือหุ้นกู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงของบริษัท A บริษัทฯ จึงเห็นว่า หากวันที่บริษัท A จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ DTC โดยบริษัท A ทราบรายชื่อ สถานะ จำนวนหุ้นกู้ รวมถึงสัญชาติของผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริง บริษัท A จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายดังนี้
           1. หากผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัยตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท A จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงรายนั้น ๆ ได้รับ
           2. หากผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัย รวมถึงที่มีสถานะอื่นใดตามกฎหมายของประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่อาจได้รับสิทธิตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำไว้กับประเทศอื่นๆ เช่น กรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงเป็นสถาบันการเงินของประเทศสิงค์โปร์ ประเทศอินเดีย ประเทศนิวซีแลนด์ หรือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น บริษัท A จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงรายนั้นๆ ได้รับ เนื่องจากอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ นั้น มีบทบัญญัติให้ลดอัตราภาษีกรณีการจ่ายดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 10
           3. สำหรับผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงที่มีสถานะนอกเหนือจาก 1. และ 2. ข้างต้น รวมถึงกรณีที่บริษัท A มิได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บริษัท A จะต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนดอกเบี้ยในส่วนที่ผู้ถือหุ้นกู้ที่แท้จริงรายนั้น ๆ ได้รับ
           4. หากถือว่า ผู้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว คือ DTC บริษัท A มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ตามข้อ 11 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:           กรณีบริษัท A จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศไทย มีความประสงค์จะขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เมื่อบริษัท A จ่ายเงินดอกเบี้ยหุ้นกู้ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัท A มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งภาษีในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่จะมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดเป็นอย่างอื่น กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัท A ขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสิงค์โปร ์ ประเทศอินเดีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผ่าน DTC หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย DTC หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) เป็นผู้มีรายชื่อของผู้ถือหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท A ผู้ออกหุ้นกู้ หาก DTC หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย ์ (Broker) ดังกล่าวเป็นสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันภัยที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐ-อเมริกา เมื่อบริษัท A จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้แก่ DTC หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ดังกล่าว บริษัท A มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายสำหรับการจ่ายดอกเบี้ย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ
เลขตู้: 69/33972

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020