เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1814
วันที่: 3 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          นาง ส. ได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.01) ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ มีสถานประกอบการแห่งใหญ่ (ร้าน อ.) มีสาขาที่ 1 (ร้าน จ.) และ สาขาที่ 2 (ร้าน ข.) นาง ส. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเขตพื้นที่สท. แสดงรายได้ประเภทดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ว่า ดอกเบี้ยจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
           จึงขอทราบว่า เงินได้จากการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด และหักค่าใช้จ่ายอย่างไร
แนววินิจฉัย:            เงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้จากการนำเงินมาลงทุน เพื่อหาผลประโยชน์ และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ มีลักษณะงานที่ทำโดยไม่มีรายจ่าย แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ หรือดำเนินการอยู่บ้าง แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นผลโดยตรง หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการให้กู้ยืมเงินมิได้คิดจากปัจจัยอื่นเป็นหลัก ประมวลรัษฎากรจึงไม่ให้หักค่าใช้จ่ายการที่นาง ส. ประกอบกิจการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยผู้กู้มีหลักประกัน และนาง ส. ได้รับดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
เลขตู้: 69/33938

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020