เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.02)/226
วันที่: 7 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขอยกเว้นภาษีสำหรับพนักงานที่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) มาตรา 48(5) มาตรา 50(1) และมาตรา 65 ตรี (2)
ข้อหารือ:          สำหรับเงินได้ที่พนักงานได้รับจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อออกจากงานด้วยเหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ เหตุทำงานมานาน โดยให้นับอายุงานต่อเนื่องในการโอนย้ายจากกองทุนสงเคราะห์พนักงานฯ มาเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และขอให้ยกเว้นภาษีเงินได้ของเงินประเดิมสำหรับพนักงานที่มีหนี้สินและสมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยนำเงินประเดิมมาหักชำระหนี้ก่อน
แนววินิจฉัย:          1. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เฉพาะกรณีเมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม ข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ส่วนกรณีพนักงาน ก. ออกจากงานด้วยเหตุสูงอายุหรือทำงานมานาน ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
           สำหรับกรณีพนักงาน ก. จะขอนับอายุงานต่อเนื่องจากการโอนย้ายกองทุนสงเคราะห์พนักงานฯ มาเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีสิทธินำมาหักลดหย่อนภาษี หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ต้องเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากกองทุนสงเคราะห์พนักงาน ก. มิได้จดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ก็ไม่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องกันได้
         2. กรณีพนักงานที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำเงินประเดิมมาหักชำระหนี้ก่อนนั้น เงินประเดิมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1 (ข)(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ดี เนื่องจากพนักงานยังไม่ได้ออกจากงาน พนักงานจึงไม่มีสิทธินำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเลือกคำนวณภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ทั้งนี ้ ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 แต่เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น พนักงานจึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เลขตู้: 69/33958

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020