เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/1804
วันที่: 3 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของผู้ประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 วรรคสอง มาตรา 77/2 มาตรา 78/1 มาตรา 84 และมาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          บริษัท ข. จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวทั้งหมด ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งแจ้งการจัดตั้งเป็นสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคแล้ว บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารด้านเทคนิค รวมทั้งด้านการสนับสนุนต่อวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
           1. กรณีบริษัทฯ ได้รับชำระค่าบริการด้านการบริหาร ด้านเทคนิค และด้านการสนับสนุนจากวิสาหกิจในเครือ บริษัทฯ จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีหรือไม่ อัตราเท่าใด เมื่อใด และหากมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไป บริษัทฯ จะขอคืนภาษีได้หรือไม่
           2. กรณีบริษัทฯ ว่าจ้างบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย การตลาด และแปลเอกสาร โดยบุคคลดังกล่าวไม่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่จะติดต่อกันผ่านระบบ E-mail บริษัทฯ จะจ่ายเงินให้บุคคลดังกล่าวเท่ากันทุกเดือน ณ วันสิ้นเดือน บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
           3. กรณีกรรมการของบริษัทฯ คนหนึ่ง เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ได้รับเงินเดือนทั้งจากบริษัทฯ และบริษัท ค. ซึ่งเป็นวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย กรรมการดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรในส่วนของเงินเดือนที่ได้รับจากบริษัทฯ หรือไม่ และจะต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 หรือ ภ.ง.ด. 95
แนววินิจฉัย:            1. กรณีบริษัทฯ ให้บริการด้านการบริหาร ด้านเทคนิค และด้านการสนับสนุนแก่วิสาหกิจในเครือ หากบริษัทฯ มิได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระราคาค่าบริการ บริษัทฯ จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กรณีที่บริษัทฯ ไม่ได้ใช้สิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไป และไม่ได้ขอคืนพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการของเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ รับทำงานให้กับบริษัทฯ และไม่ได้ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เงินได้พึงประเมินที่ได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจาก หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ บุคคลดังกล่าวไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
           3. กรณีกรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และเป็นกรรมการบริษัท ค. ซึ่งเป็นวิสาหกิจในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วย หากกรรมการได้รับเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทฯ กรรมการผู้นั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เฉพาะเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการจ้างแรงงานดังกล่าวเท่านั้น ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากรฯ (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ส่วนเงินได้พึงประเมินเนื่องจากได้รับเงินเดือนจากบริษัท ค.กรรมการผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 ด้วย ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 28)ฯ ลงวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2531
เลขตู้: 69/33930

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020