เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./2024 |
วันที่ | : 9 มีนาคม 2549 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการรับช่วงขนส่งสินค้า |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ประกอบกิจการซื้อมาและขายไปอะไหล่ เครื่องถ่ายเอกสาร อุปกรณ์สำนักงาน ต่อมาประสงค์จะเพิ่มธุรกิจขนส่งโดยมีรถกระบะบรรทุก 4 ล้อ และคนขับรถเพื่อรับขนส่งสินค้าทั่วๆ ไป สินค้าที่บริษัทฯ รับขนส่งจะไม่เกี่ยวกับสินค้าที่มีไว้ขาย กรณีบริษัทฯ ทำสัญญารับขนส่งแล้ว แต่ในการขนส่งบริษัทฯ จำเป็นต้องใช้รถเทเลอร์ บริษัทฯ จึงไปว่าจ้างบริษัทขนส่งอีกรายให้ทำหน้าที่แทน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ในการเรียกเก็บค่าขนส่งดังกล่าว ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง เนื่องจากการขนส่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าขนส่งให้กับบริษัทอื่นที่รับขนส่งสินค้าให้ลูกค้าแทน บริษัทฯ ก็ไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าภายในราชอาณาจักร โดยมีรถบรรทุกและคนขับรถ เพื่อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างทั่วๆ ไป เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง และกรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้า โดยจ้างบุคคลภายนอกให้ทำการขนส่งสินค้าให้ลูกค้าแทน การประกอบกิจการดังกล่าว เป็นการประกอบกิจการขนส่งหลายคนหลายทอดตามมาตรา 618 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน ผู้รับจ้างขนส่งช่วงจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ แต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 69/33965 |