เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./2052
วันที่: 9 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีติดตั้งเครื่องมือแพทย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8) มาตรา 77/2 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 82/4 มาตรา มาตรา 86 มาตรา 82/10 มาตรา 86/9 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          บริษัท ฟ จำกัด เป็นผู้นำเข้าและขายน้ำยาชันสูตรโรค บริษัทฯ ขายน้ำยาชันสูตรโรคให้กับลูกค้า (โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน) โดยบริษัทฯ ได้นำเครื่องมือชันสูตรโรค ซึ่งต้องใช้ร่วมกับน้ำยาชันสูตรโรคเพื่อตรวจวิเคราะห์สมมติฐานของโรค ไปติดตั้งที่สถานประกอบการของลูกค้าเพื่อให้ลูกค้ายืมใช้งานกับน้ำยาชันสูตรโรคที่ลูกค้าซื้อจากบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ จะจัดทำใบยืมเครื่องมือชันสูตรโรค ให้ลูกค้าลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากทรัพย์สินที่ยืมดังกล่าวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องมือดังกล่าว และบริษัทฯ มีสิทธินำเครื่องมือที่รับคืนจากลูกค้ารายหนึ่งไปติดตั้งที่สถานประกอบการของลูกค้าอีกรายหนึ่งเนื่องจากลูกค้ามิได้ซื้อน้ำยาชันสูตรโรคหรือซื้อไม่ถึงปริมาณที่บริษัทฯกำหนด ต่อมาบริษัทฯ ต้องการเลิกกิจการและได้ขายทรัพย์สินทั้งหมด รวมทั้งเครื่องมือชันสูตรโรคให้กับบริษัท ไบโอ-ราด แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันและประกอบธุรกิจอย่างเดียวกัน โดยบริษัทฯ ขายเครื่องมือชันสูตรโรคทั้งหมดในราคาตามบัญชี และบริษัทฯ ได้จัดทำใบรับคืนเครื่องมือชันสูตรโรคทั้งหมดจากลูกค้าเพื่อส่งมอบให้บริษัท บ. พร้อมกับออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและนำส่งภาษีขายในเดือนที่มีการขายแล้ว โดยบริษัทฯ ไม่ได้นำภาษีขายของการรับคืนทรัพย์สินไปลดยอดภาษีขายในเดือนที่เกิดรายการ แต่บริษัทฯ ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการรับคืนทรัพย์สินเป็นเงินสด ซึ่งการขอคืนภาษีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
           1. การนำเครื่องมือฯ ให้ลูกค้ายืมใช้ที่สถานประกอบการของลูกค้าถือเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ และบริษัทฯ ควรจัดทำเอกสารประเภทใด เพื่อนำส่งภาษีขาย
           2. เมื่อบริษัทฯ นำเครื่องมือฯ กลับคืนมาจากลูกค้า บริษัทฯ สามารถออกเอกสารใบรับคืนทรัพย์สิน (เสมือนใบลดหนี้) เพื่อขอลดยอดภาษีขายในเดือนที่มีการรับเครื่องมือฯกลับคืนจากลูกค้า หรือไม่
           3. บริษัทฯ และบริษัท ไบโอ-ราดฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไร เมื่อมีการซื้อขายเครื่องมือชันสูตรโรคที่ตั้งอยู่ที่สถานประกอบการของลูกค้า
แนววินิจฉัย:           1. กรณีบริษัทฯ ขายน้ำยาชันสูตรโรคโดยให้โรงพยาบาลที่เป็นลูกค้ายืมเครื่องมือแพทย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ เพื่อใช้ประกอบในการตรวจวิเคราะห์สมมติฐานของโรค โดยไปติดตั้งให้โรงพยาบาลที่ซื้อน้ำยาชันสูตรโรคในปริมาณที่บริษัทฯ กำหนด บริษัทฯ มีหลักฐานการยืมโดยทำเป็นใบยืมทรัพย์สินและใบรับคืนทรัพย์สิน กรณีจึงเข้าลักษณะเป็นการให้ยืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืมแก่ผู้ยืม แต่เป็นการให้ยืมใช้สอยทรัพย์สินและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว และนอกจากจะเป็นการให้ยืมใช้คงรูปแล้ว ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่า บริษัทฯ จะต้องไม่ได้คำนวณค่าเครื่องมือแพทย์เข้าไปในราคาขายน้ำยาชันสูตรโรค จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี กรณีบริษัทฯ ให้ยืมเครื่องมือชันสูตรโรคดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของค่าบริการดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งบริษัทฯ จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีพร้อมส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการ ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรณีบริษัทฯ นำเครื่องมือแพทย์กลับคืนจากลูกค้า บริษัทฯ ไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้เพื่อลดยอดภาษีขายในเดือนที่มีการรับเครื่องมือฯกลับคืน เนื่องจากตามข้อเท็จจริง มิใช่เหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้ออกใบลดหนี้เกิดขึ้นตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร
            3. กรณีบริษัทฯ ขายทรัพย์สินซึ่งรวมทั้งเครื่องมือชันสูตรโรคที่ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลลูกค้าให้แก่บริษัท ไบโอ-ราดฯ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 69/33970

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020