ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 74)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาออก ตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 331) พ.ศ. 2541 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้น ภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนด และต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
1.1 ต้องมีสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์
1.2 ต้องมีข้อกำหนดให้มีการโอนหลักทรัพย์จากผู้ให้ยืมไปยังผู้ยืม โดยผู้ยืมตกลงว่าจะโอนหลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกันหรือโครงการจัดการกองทุนรวมเดียวกัน ประเภท รุ่น และชนิดเดียวกัน ในจำนวนที่เทียบเท่ากับที่ยืมไปดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ให้ยืมตามวันที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าหรือในวันที่ผู้ให้ยืมทวงถาม โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ยืมจนถึงวันที่คืนหลักทรัพย์จะต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันให้ยืมหลักทรัพย์
ทั้งนี้ หากผู้ยืมผิดนัดไม่ส่งมอบหลักทรัพย์คืนให้แก่ผู้ให้ยืมภายในกำหนดเวลา และผู้ให้ยืมได้ซื้อหลักทรัพย์ที่ให้ยืมมาคืนตนเองภายในกำหนดเวลา 1 เดือนนับแต่วันที่ผิดนัด ให้ถือว่าหลักทรัพย์ที่ผู้ให้ยืมซื้อมานั้น เป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับคืนตามวรรคหนึ่งด้วย
1.3 ในกรณีที่การยืมหลักทรัพย์มีหลักประกันการยืมหลักทรัพย์และหลักประกันดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์หรือตราสารใด ๆ สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ต้องกำหนดให้มีการโอนหลักประกันจากผู้ยืมไปยังผู้ให้ยืม โดยผู้ให้ยืมตกลงว่าจะโอนหลักประกันดังกล่าวคืนแก่ผู้ยืมเมื่อผู้ยืมคืนหลักทรัพย์ตามข้อ 1.2 หรือเมื่อผู้ยืมได้วางหลักประกันอื่นแทน หลักประกันเดิมแล้ว
ทั้งนี้ หากผู้ให้ยืมผิดนัดไม่ส่งมอบหลักประกันคืนให้แก่ผู้ยืมภายในกำหนดเวลา และผู้ยืมได้ซื้อหลักประกันการยืมหลักทรัพย์มาคืนตนเองภายในกำหนดเวลา 1 เดือนนับแต่วันที่ผิดนัด ให้ถือว่าหลักประกันที่ผู้ยืมซื้อมานั้น เป็นหลักประกันที่ได้รับคืนตามวรรคหนึ่งด้วย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 141) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป ) )
ข้อ 2 ในระหว่างที่มีการยืมหลักทรัพย์ใด ๆ และยังไม่ได้คืน หากผู้ออก หลักทรัพย์ที่ให้ยืมมีการจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ เช่น เงินปันผล ที่เกิดจากการ ถือครองหลักทรัพย์ดังกล่าว ผู้ยืมต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ดังกล่าวให้ แก่ผู้ให้ยืม ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยืมจะได้รับผลประโยชน์นั้นหรือไม่ก็ตาม
ข้อ 3 ในระหว่างที่มีการวางหลักประกันใด ๆ และยังไม่ได้คืนหลักประกัน หากผู้ออกหลักทรัพย์หรือตราสารที่เป็นหลักประกันมีการจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้ถือหลักทรัพย์ หรือตราสารนั้น เช่น เงินปันผลหรือดอกเบี้ย ที่เกิดจากการถือครองหลักทรัพย์หรือ ตราสารนั้น ผู้ให้ยืมจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ดังกล่าวให้แก่ผู้ยืม
ข้อ 4 ต้องมีการบันทึกบัญชีในรูปแบบของการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และ จัดเก็บหลักฐานแยกออกจากธุรกรรมอื่น
ข้อ 5 คู่สัญญาในการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ประกอบ กิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ โดยผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือศูนย์รับฝาก หลักทรัพย์อาจตกลงทำสัญญาในฐานะคู่สัญญาเองหรือนายหน้าหรือตัวแทนของบุคคลอื่นก็ได้
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2541
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร