เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/2497
วันที่: 23 มีนาคม 2549
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:          บริษัท ม. จำกัด ประกอบกิจการเป็นผู้ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ต้องการจะโอนกิจการทั้งหมดไปยังบริษัทในเครือที่มีการดำเนินการในธุรกิจที่คล้ายกัน บริษัทฯ จึงหารือดังนี้
            1. ผู้โอน ผู้รับโอน และผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ผู้โอน (โอนกิจการทั้งหมด) ได้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีอย่างไรบ้าง กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ถือหุ้นหลังคืนทุน
            2. การโอนกิจการทั้งหมดไม่ถือเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ และหากได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ราคาทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวถือเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
            3. ผู้รับโอน ผู้โอนต้องตีราคาทรัพย์สินและหนี้สินอย่างไร ณ วันที่โอนกิจการทั้งหมด หากบริษัทฯ ผู้รับโอนถือหุ้นในบริษัทฯ ผู้โอนถึงร้อยละ 99 บริษัทฯ ผู้โอนจะโอนทรัพย์สินและหนี้สิน ในราคามูลค่าตามบัญชี (BOOK VALUE) ให้บริษัทฯ ผู้รับโอนได้หรือไม่อย่างไร
            4. ในวันจดทะเบียนเลิก และชำระบัญชีของบริษัทฯ ผู้โอนกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ตีราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิกตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ทรัพย์สินและหนี้สินได้โอนไปทั้งหมดแล้ว จะเหลือเพียงทุน เงินสด กำไรสะสมและขาดทุนสะสมเท่านั้น การตีราคาตลาดดังกล่าวหมายถึงการตีราคาในส่วนใด
แนววินิจฉัย:           1. กรณีตาม 1. การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ดังนี้
                 1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ตาม (50) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
                 1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
                 1.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบกิจการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
                 1.4 ภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ ตามมาตรา 5 โสฬส แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในฃประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
                 1.5 อากรแสตมป์ ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ตามมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
            2. กรณีตาม 2. การโอนกิจการทั้งหมดถือเป็นการขาย เว้นแต่ ภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 1.3 ไม่ถือเป็นการขายสำหรับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ข้างต้น เป็นเพียงการแจ้งมูลค่าหุ้นตามทะเบียนหุ้น ไม่ได้กำหนดเรื่องการตีราคาทรัพย์สิน จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาว่าเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีเหตุผลสมควรหรือไม่ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
            3. กรณีตาม 3. และ 4. การตีราคาทรัพย์สิน กรณีการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิก และมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น ให้ตีตามราคาตลาดในวันที่โอนกิจการหรือวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือว่า ราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทผู้โอน และให้บริษัทผู้รับโอนถือราคาของทรัพย์สินนั้น ตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทผู้โอนในวันที่โอนกิจการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้กล่าวถึงการตีราคาทรัพย์สินไว้โดยเฉพาะ
เลขตู้: 69/34012

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020