เลขที่หนังสือ | : กค 0706/3195 |
วันที่ | : 18 เมษายน 2549 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลการคำนวณกำไรขาดทุนของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : ธนาคารฯ ได้โอนหนี้ที่มีปัญหาให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) โดย บสท. มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องสรุปผลกำไรขาดทุนเมื่อครบ 5 ปีและครบ 10 ปีตามลำดับ ทั้งนี้ การสรุปผลกำไรขาดทุนในปีที่ 5 เป็นการประมาณการกำไรขาดทุนจากการบริหารหนี้ตามสัดส่วนที่ได้รับชำระแล้วจากหนี้โดยใช้เกณฑ์เงินสด และแจ้งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทราบแต่ไม่มีการชำระเงินจนกว่าจะมีการสรุปผลกำไรขาดทุนในปีที่ 10 ซึ่งเป็นการคำนวณกำไรขาดทุนแท้จริงเพื่อแบ่งกำไรขาดทุน สมาคมธนาคารไทย จึงขอทราบว่า กรณี บสท. คำนวณกำไรขาดทุนในสิ้นปีที่ 5 ซึ่งเป็นการประมาณการกำไรขาดทุนจากการบริหารหนี้ตามสัดส่วนที่ได้รับชำระแล้วจากหนี้โดยใช้เกณฑ์เงินสด หากสามารถประมาณการจำนวนเงินได้อย่างน่าเชื่อถือและเกิดผลขาดทุน ธนาคารพาณิชย์จะบันทึกรับรู้ผลขาดทุนควบคู่กับหนี้สิน โดยการตั้งสำรองเผื่อผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในงวดนั้น หรือหากเกิดผลกำไร ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรับรู้กำไรดังกล่าวจนกว่าจะมีความแน่นอนในการได้รับเงินหรือสินทรัพย์อื่นของกำไรนั้น สำหรับกรณีที่สามารถประมาณการจำนวนเงินได้อย่างน่าเชื่อถือหรือมีความเป็นไปได้แน่นอนว่าจะได้รับทรัพย์สินนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็อาจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินของตน กำไรที่เกิดขึ้นจากการประมาณการในสิ้นปีที่ 5 นี้จึงยังไม่มีภาระภาษีเงินได้แต่อย่างใด ถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีธนาคารฯ ได้โอนหนี้ที่มีปัญหาให้แก่ บสท. ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายให้สรุปผลกำไรขาดทุนเมื่อครบ 5 ปีและครบ 10 ปีตามลำดับ การสรุปผลกำไรขาดทุนในปีที่ 5 เป็นการประมาณการกำไรขาดทุนจากการบริหารหนี้ตามสัดส่วนที่ได้รับชำระหนี้โดยใช้เกณฑ์เงินสด และแจ้งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทราบแต่ไม่มีการชำระเงินจนกว่าจะมีการสรุปผลกำไรขาดทุนในปีที่ 10 เพื่อแบ่งกำไรขาดทุนที่แท้จริงตามข้อเท็จจริงข้างต้น ด้วยเหตุดังกล่าวไม่อาจทำให้การรับรู้รายได้ของธนาคารพาณิชย์ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องใช้เกณฑ์สิทธิ์ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 69/34098 |