เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706/2751
วันที่: 31 มีนาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ข้อกฎหมาย:มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            ในปี 2546 นาง ส. ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง และได้ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จำนวน 200,000 บาท ต่อมาในปี 2547 ได้ลาออกจากงาน แต่ยังมีเงินได้อยู่ พร้อมทั้งซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) อีก จำนวน 10,000 บาท ส่วนในปี 2548 ไม่มีเงินได้ จึงขอทราบว่า หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การซื้อและขายหน่วยลงทุน RMF ในปี 2548 เป็นต้นไปเป็นอย่างไร
แนววินิจฉัย:            1. กรณีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามข้อ 2 (55) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2544 ดังนั้น หากในปี 2548 นาง ส. ไม่มีเงินได้ นาง ส. มีสิทธิหยุดการซื้อหน่วยลงทุน RMF ได้ไม่เกิน 1 ปี และไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีดังกล่าว จนกว่านาง ส. จะมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
:            2. กรณีนาง ส. ซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปี 2546 และปี 2547 จำนวน 200,000 บาท และ10,000 บาท ตามลำดับ หากนาง ส. ขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าว เมื่อได้ถือหน่วยลงทุนนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกจึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2544 จากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แล้วแต่กรณี
เลขตู้: 69/34039

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020