เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706/2777
วันที่: 31 มีนาคม 2549
เรื่อง:ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย:มาตรา 40(2) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง มาตรา 82/13 มาตรา 83/6 และมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการเจรจาความตกลงบริการด้านการเงินภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา จากงบประมาณการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกาประจำปีงบประมาณ 2549 โดยให้ สศค. ดำเนินการยกร่างและเจรจาเงื่อนไขเกี่ยวกับสัญญาการจัดจ้างที่ปรึกษา และกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการจัดจ้างและเบิกจ่ายเพื่อชำระค่าใช้จ่าย โดย สศค. อยู่ในระหว่างการเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาการจัดจ้างที่ปรึกษา สศค. จึงขอทราบภาระภาษีอากรเกี่ยวกับการจัดจ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสัญชาติสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการวิจัยให้คำปรึกษาจัดทำและนำเสนอรายงานข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงบริการด้านการเงินภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกาต่อ สศค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีเงื่อนไขการจัดจ้างสรุปได้ดังนี้
:            ผู้ว่าจ้าง กระทรวงการต่างประเทศโดยสถานเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ลงนามในสัญญาจ้าง ผู้รับจ้าง บุคคลธรรมดาสัญชาติสหรัฐอเมริกา มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาสถานที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เว้นแต่การนำเสนอรายงานจะกระทำในประเทศไทย ระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ลักษณะงาน ศึกษา วิจัย ให้คำปรึกษา จัดทำและนำเสนอรายงานข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงบริการด้านการเงินภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริการะยะเวลาการจ้าง ประมาณ 4 - 6 เดือน ค่าจ้างเบิกจากงบประมาณของรัฐบาลไทย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงานแล้ว
แนววินิจฉัย:            1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีกระทรวงการต่างประเทศจ่ายเงินค่าจ้างศึกษา วิจัย ให้คำแนะนำ จัดทำและนำเสนอรายงานข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงบริการด้านการเงินภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกาให้แก่ผู้รับจ้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากการรับทำงานดังกล่าวถือเป็นงานบริการส่วนบุคคลซึ่งผู้มีเงินได้จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากงานบริการส่วนบุคคลนั้นให้แก่ประเทศไทยต่อเมื่อได้ให้บริการดังกล่าวในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบุคคลดังกล่าวได้ให้บริการในต่างประเทศ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจากค่าจ้างที่ได้รับ ทั้งนี้ ตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
:            2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากผู้รับจ้างได้ให้บริการศึกษา วิจัย ให้คำแนะนำ จัดทำรายงานในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการนำเสนอรายงานในประเทศไทย ถือเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศจึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกระทรวงการต่างประเทศ ผู้จ่ายเงินค่าบริการ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ (ผู้รับจ้าง) มีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
เลขตู้: 69/34046

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020