เลขที่หนังสือ | : กค0706/3184 |
วันที่ | :18 เมษายน 2549 |
เรื่อง | :ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืม |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 48(1)(2) มาตรา 48(3)(ก) มาตรา 50(2)(ข) และมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : นาย ส. เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 25 ของ บริษัท ช. และบริษัท น. จำกัด โดยนาย ส. ได้ให้ บริษัท ส. จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 10,000,000.- บาท ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมเงินครั้งแรกและครั้งเดียวเพื่อใช้ในการบริหารงาน นาย ส. จะได้รับดอกเบี้ยและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 นอกจากนี้ นาย ส. ได้ให้บริษัท น. จำกัด กู้ยืมเงินจำนวน 2,000,000.- บาท เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ และบริษัท น. จำกัด จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยใช้เครดิตส่วนตัวของนาย ส. ค้ำประกันเงินกู้ ต่อมาธนาคารได้ล้างเงินต้นและดอกเบี้ยในชื่อของบริษัท น. จำกัด ออกไป พร้อมทั้งตัดเงินในบัญชีส่วนตัวของนาย ส. แทน ในขณะเดียวกันบริษัท น. จำกัด จะล้างบัญชีหนี้สินในรายการ เงินกู้จากธนาคารและบันทึกบัญชีหนี้สิน เงินกู้ยืมจากกรรมการแทน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จ่ายดอกเบี้ยทั้งเงินกู้ยืมจำนวน 2,000,000.- บาท และเงินกู้ยืมจากการตัดบัญชีของธนาคาร จึงหารือว่า 1. กรณีที่บริษัททั้งสองจ่ายดอกเบี้ยให้กับนาย ส. และบริษัททั้งสองได้หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว นาย ส. จะมีสิทธิเลือกไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัททั้งสองไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นตอนสิ้นปีได้หรือไม่ 2. เมื่อนาย ส. ได้รับดอกเบี้ยในแต่ละคราว นาย ส. จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ถ้าต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นบริษัททั้งสองจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บุคคลผู้ให้กู้ยืม บริษัททั้งสองมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และนาย ส. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าวมีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(1) (2) และมาตรา 48(3)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร 2 กรณีบุคคลธรรมดานำเงินของตนให้บุคคลอื่นกู้ยืม หากเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยประกอบการเป็นอาชีพเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ย การให้กู้ยืมดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น นาย ส. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการดังกล่าวจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ |
เลขตู้ | :69/34093 |