เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706/พ./2774
วันที่:31 มีนาคม 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
ข้อกฎหมาย:มาตรา 77/1(11) มาตรา 77/1(21) มาตรา 78/2(2) มาตรา 79 มาตรา 82 และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            บริษัท ค. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการผลิตขายส่ง และขายปลีกสารเคมีและปุ๋ยเคมี บริษัทฯ อยู่ในระหว่างขออนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมจากกรมศุลกากร หากบริษัทฯ ได้ขายสารเคมีที่ผลิตจากโรงงานของบริษัทฯที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรให้กับผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการนอกเขตปลอดอากร โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร ถือว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่บริษัทนอกเขตปลอดอากรซึ่งมีทั้งบริษัทที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือบริษัทไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดในทางภาษี บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการนอกเขตปลอดอากรดังกล่าว ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย:             หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ได้ประกอบกิจการอยู่ในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร และได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่อยู่นอกเขตปลอดอากร โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร บริษัทฯ มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
:            1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออก บริษัทฯ จึงเป็นผู้นำเข้าสินค้าซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้านั้นออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(11) มาตรา 78/2(2) มาตรา 82 และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร
:            2. กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่อยู่นอกเขตปลอดอากร โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าไม่ว่าผู้ซื้อสินค้าจะเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือบริษัทที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดในทางภาษี การขายสินค้าของบริษัทฯ จะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
:                 (ก) หากบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับจากการขายสินค้ามารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่มีหน้าที่ต้องออกใบรับและใบส่งของตามมาตรา 105 และมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร
:                 (ข) หากบริษัทฯ ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มค่าตอบแทนจากการขายสินค้าดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 79 และมาตรา 80(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34044

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020