เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค0706(กม.01)/พ./343
วันที่:21 มีนาคม 2549
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดส่งใบกำกับภาษีทาง Remote Printing (ราย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ข้อกฎหมาย:มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:            1. ธนาคารฯ มีโครงการจะจัดส่งใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าโดยการสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีที่ธนาคารฯ แต่ไปออก ณ สถานประกอบการของลูกค้า (Remote Printing) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 
                 (1) ธนาคารฯ จะจัดทำใบกำกับภาษีและสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีจากธนาคาร โดยให้ต้นฉบับใบกำกับภาษีพิมพ์ออก ณ สถานประกอบการของลูกค้าโดยตรง
                 (2) การสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีไปยังสถานประกอบการของลูกค้าจะไม่มีการส่งข้อมูลในรูปแบบของข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ให้แก่ลูกค้า กล่าวคือ ลูกค้าไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ของใบกำกับภาษีได้ ลูกค้าจึงไม่สามารถจัดพิมพ์เอง ทำซ้ำ หรือดัดแปลงใบกำกับภาษีจากข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ได
                 (3) ใบกำกับภาษีที่พิมพ์ออก ณ สถานประกอบการของลูกค้า มีรูปแบบเหมือนกับใบกำกับภาษีที่ธนาคารฯ พิมพ์และจัดส่งให้แก่ลูกค้าตามวิธีปกติทุกประการ
                 (4) ธนาคารฯ จะมีระบบตรวจสอบรายการใบกำกับภาษีที่สั่งพิมพ์ออก ณ สถานประกอบการของลูกค้าทุกรายการ โดยธนาคารฯ จะสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีได้เพียงครั้งเดียว ในกรณีที่มีการสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีแล้ว หากปรากฏว่าใบกำกับภาษีสูญหายหรือเสียหายจะไม่มการสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีทาง Remote Printing อีก โดยลูกค้าจะต้องติดต่อธนาคารเพื่อออกใบแทนใบกำกับภาษีเท่านั้น
            ธนาคารฯ จึงหารือว่า ธนาคารฯ สามารถจัดส่งใบกำกับภาษีด้วยวิธีการดังกล่าวได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:            1. ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
            2. กรมสรรพการได้วางแนวทางปฏิบัติว่า กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจัดทำด้วยวิธีการใด ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวที่เป็นต้นฉบับให้แก่ผู้รับในรูปแบบกระดาษ ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.121/2545 เรื่อง การจัดทำและการจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากร ที่มีข้อความอยู่ในรูปแบบของข้อมูลอีเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545
            ดังนั้น ธนาคารฯ จะจัดส่งใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าโดยการสั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีที่ธนาคารฯ แต่ไปออก ณ สถานประกอบการของลูกค้า (Remote Printing) ตามข้อเท็จจริง ไม่ถือว่าเป็นการส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:69/34030

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020