เลขที่หนังสือ | : กค0706/พ./2804 |
วันที่ | :3 เมษายน 2549 |
เรื่อง | :ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเงินค้ำประกันรับจากตัวแทนจำหน่าย |
ข้อกฎหมาย | :มาตรา 82/3 และมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : กรณีเงินค้ำประกันรับจากตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ เงินประกันที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้แทนจำหน่ายก่อนที่จะมีการซื้อขายสินค้าตามสัญญาฯ เป็นเงินที่เรียกเก็บเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ เองในการตอบแทนให้สิทธิการเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ และเป็นหลักประกันในการชำระค่าสินค้าและหนี้ที่ผู้แทนจำหน่ายมีต่อบริษัทฯ ในกรณีเลิกสัญญาหากมีหนี้ค้างจ่ายบริษัทฯ ก็สามารถหักเงินประกันมาชำระหนี้ค้างจ่ายได้ทันที ดังนั้น เงินประกันดังกล่าวจึงเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรบริษัทฯ จึงมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้แทนจำหน่ายตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดย เงินค้ำประกันดังกล่าวมิใช่เรียกเก็บเพื่อประโยชน์ในการตอบแทนให้สิทธิการเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ หากแต่เป็นหลักทรัพย์ที่มีเพื่อค้ำประกันวงเงินสินเชื่อในการซื้อสินค้า เงินค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่รายรับจากการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | : 1. เงินค้ำประกันที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้แทนจำหน่ายมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อในการซื้อสินค้า ซึ่งเป็นเงินค้ำประกันทางธุรกิจที่กระทำกันเมื่อมีการให้วงเงินเครดิต โดยผู้แทนจำหน่ายสามารถวางหลักประกันเป็นที่ดิน อาคาร เงินสด หรือ Bank Guarantee แบบหนึ่งแบบใดหรือมากกว่าหนึ่งแบบก็ได้ และบริษัทฯ จะพิจารณาให้เครดิตในวงเงินสินเชื่อประมาณ 1-2.5 เท่าของหลักประกัน หากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันบริษัทฯ จะขายสินค้าให้แก่ผู้แทนจำหน่ายได้โดยผู้แทนจำหน่ายต้องชำระเงินค่าสินค้าทันที และเมื่อเลิกสัญญาบริษัทฯ จะคืนเงินค้ำประกันให้แก่ผู้แทนจำหน่าย ในกรณีที่ผู้แทนจำหน่ายนำเงินสดมาวางค้ำประกัน บริษัทฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้ในอัตราที่ใกล้เคียงที่บริษัทฯ ได้รับจากธนาคาร เนื่องจากบริษัทฯ นำเงินสดที่ได้ไปฝากธนาคารและได้รับผลตอบแทน จึงต้องจ่ายคืนในรูปเงินชดเชยให้แก่ผู้แทนจำหน่ายทุกไตรมาส ดังนั้น เงินค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเงินที่เรียกเก็บเพื่อการตอบแทนให้สิทธิเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ แต่อย่างใด ไม่ถือเป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร : 2. เงินชดเชยที่ผู้แทนจำหน่ายได้รับจากบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ นำเงินค้ำประกันที่ไดไปฝากธนาคาร และได้รับผลตอบแทน จึงต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้แทนจำหน่ายทุกไตรมาสตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ผู้แทนจำหน่ายจะต้องนำเงินชดเชยดังกล่าวไปคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :69/34051 |